คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5811/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ (3) ระบุว่าโจทก์ขอให้บริษัทประกันภัยของจำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ไปซ่อมแซมให้ และข้อ (4) ระบุว่า จำเลยที่ 2 โดยบริษัทประกันภัยยินยอมตามข้อตกลง แสดงว่า จำเลยที่ 2 ตกลงตามบันทึกนั้นแทนบริษัทประกันภัยหาใช่ตกลงในฐานะส่วนตัวไม่ และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ยินยอมตามข้อตกลงดังกล่าวเพราะทราบว่ารถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มีประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย และคิดว่าบริษัทประกันภัยคงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ จึงได้ยินยอมตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวขึ้น ดังนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงเช่นว่านี้เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และบริษัทประกันภัยจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะมีผลให้มูลหนี้ละเมิดตามฟ้องระงับสิ้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2118 สุโขทัย จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กันยายน2527 จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนรถสามล้อเครื่องของโจทก์ซึ่งนายสมกิจขับได้รับความเสียหายหมดทั้งคัน เสียค่าซ่อม 20,810 บาท ค่านำรถไปซ่อม500 บาทค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม 57 วัน เป็นเงิน 8,550 บาทรวมค่าเสียหาย 29,860 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถสามล้อเครื่องตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถสามล้อเครื่อง ผู้ขับรถสามล้อเครื่องมีส่วนประมาทด้วย จึงต้องเฉลี่ยค่าเสียหายตามส่วน ค่าเสียหายรถสามล้อเครื่องไม่เกิน10,000 บาท เกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับโจทก์นำรถสามล้อเครื่องไปซ่อมให้ในวงเงิน 5,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์เพราะไม่มีอยู่ในบันทึกข้อตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้วมูลหนี้ละเมิดตามฟ้องจึงระงับสิ้นไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 20,300บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า บันทึกการตกลงค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่เห็นว่า บันทึกข้อตกลงข้อ (3) ระบุว่าโจทก์ขอให้บริษัทประกันภัยของจำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ไปซ่อมแซมให้ และข้อ (4) ระบุว่าจำเลยที่ 2 โดยบริษัทประกันภัยยินยอมตามข้อตกลง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ตกลงตามบันทึกนั้นแทนบริษัทประกันภัยหาใช่ตกลงในฐานะส่วนตัวไม่ และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ยินยอมตามข้อตกลงดังกล่าวเพราะทราบว่ารถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มีประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยและคิดว่าบริษัทประกันภัยคงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ จึงได้ยินยอมตกลงทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นดังนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถตามเอกสารหมาย จ.13 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และบริษัทประกันภัยจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะมีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share