คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งร่วมกันกับผู้มีชื่ออีก 5 คน ต่อมาจำเลยกับผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมได้ขอแบ่งแยกโฉนดเป็นของแต่ละคน และได้ตกลงกันตัดถนนทางด้านทิศเหนือของที่ดินที่ขอแบ่งแยกแต่ละแปลงไปออกยังถนนพหลโยธิน โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของจำเลย จากจำเลยและวางมัดจำไว้ โดยระบุในข้อสัญญาว่า ในกรณีที่มีการทำถนนร่วมกัน ทุกฝ่ายได้ตกลงกันว่า ผู้ที่มีที่ดินร่วมกันจะสละที่ดินให้เป็นสาธารณะ และช่วยกันลงทุนทำถนนร่วมกัน ในกรณีทำคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธิน ทุกฝ่ายจะต้องลงทุนร่วมกันโดยเฉลี่ยทุนทรัพย์เท่ากัน ดังนี้ข้อสัญญาดังกล่าวเพียงแต่กล่าวว่า ผู้ที่มีที่ดินร่วมกันจะสละที่ดินทำถนนและลงทุนทำถนนกับคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธิน โดยเฉลี่ยทุนทรัพย์เท่า ๆ กัน ไม่มีทางที่จะแปลไปได้ว่าจำเลยตกลงรับผิดชอบทำถนนตลอดสายเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นซึ่งมิได้ตกลงทำสัญญา และไปจดทะเบียนให้เป็นถนนสาธารณะด้วย ดังนั้น การที่เจ้าของร่วมคนหนึ่งสละที่ดินทำถนนแล้วแต่ยังไม่ยอมให้ทำคอถนนในที่ดินส่วนของผู้นั้นไปเชื่อมกับถนนพหลโยธิน จึงถือมิได้ว่าจำเลยผิดสัญญา เมื่อโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อที่ดินตามสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยชอบที่จะริบมัดจำเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๒๗๖๓ โดยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับสามีและญาติของจำเลยรวมทั้งหมด ๖ คน เป็นส่วนของจำเลย ๒๐๐ ตารางวา จำเลยและผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมได้ตกลงแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วน ๆ ดังปรากฏตามภาพถ่ายแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง จำเลยได้ตกลงกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมโฉนดทำถนนทางด้านเหนือของที่ดิน มีความกว้าง ๕ เมตร เริ่มต้นตั้งแต่แนวเขตที่ดินของจำเลยทางด้านตะวันออกและมีความยาวของถนนสุดเขตที่ดินของนางเซาะ ยิ่งนิยม จนจดถนนพหลโยธินทางด้านตะวันตก เพื่อให้เป็นทางสาธารณะ และได้มีเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินโฉนดดังกล่าวได้สละที่ดินมีความกว้าง ๒ เมตร มีความยาวตลอดแนวเขตที่ดินเพื่อทำถนนร่วมกันด้วย ถนนจึงมีความกว้าง ๗ เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินจนจดถนนพหลโยธิน
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๓ จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินเฉพาะที่เป็นส่วนของจำเลยเนื้อที่ ๒๐๐ ตารางวาให้แก่โจทก์ทั้งสองในราคาตารางวาละ ๙๐๐ บาท และจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่าต้องมีถนนกว้าง ๗ เมตร ยาวไปบรรจบกับถนนพหลโยธินให้เป็นถนนสาธารณะเข้าออกได้ จำเลยได้รับเงินมัดจำค่าที่ดินจากโจทก์ไว้ในวันทำสัญญาเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือโจทก์ทั้งสองจะต้องชำระต่อเมื่อจำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมโฉนดได้จดทะเบียนเป็นถนนสาธารณะ และทำคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธินดังกล่าวเสร็จตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินท้ายฟ้อง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ โจทก์และผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ร่วมกันออกเงินทำถนนจนแล้วเสร็จ แต่ยังเชื่อมคอถนนกับถนนพหลโยธินไม่ได้ เพราะจำเลยไม่สามารถจะให้นางเซาะ ยิ่งนิยม เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปทำการยื่นหนังสือขออนุญาตต่อกรมทางหลวงแผ่นดินเพื่อทำการก่อสร้างคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธินได้ และเจ้าของที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมก็ไม่ยอมจดทะเบียนเป็นทางสาธารณะ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับแจ้งให้จำเลยคืนเงินมัดจำ ๙๐,๐๐๐ บาท และค่าปรับอีกสองเท่าของเงินมัดจำ จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินรวม ๒๗๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๒๗๐,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดที่ ๒๗๖๓ ตามฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนของจำเลย ๒๐๐ ตารางวา และเจ้าของที่ดินทุกแปลงตกลงจะทำถนนผ่านตลอดความยาวของที่ดิน แต่เฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้นที่ยินดีให้ยกเป็นทางสาธารณะ ส่วนเจ้าของคนอื่นจำเลยมิอาจทราบ จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายเฉพาะส่วนของจำเลยมีเนื้อที่ ๒๐๐ ตารางวาให้แก่โจทก์ตารางวาละ ๙๐๐ บาท และรับเงินมัดจำไว้ในวันทำสัญญาเป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อออกโฉนดใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายจะมีหนังสือให้ผู้จะซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน เมื่อจำเลยแบ่งแยกโฉนดใหม่แล้ว จึงบอกกล่าวด้วยวาจาให้โจทก์มารับโฉนดและชำระเงินให้เรียบร้อย โจทก์ก็เพิกเฉย ในที่สุดจำเลยได้โทรเลขแจ้งให้โจทก์ทราบและมารับโฉนดพร้อมทั้งชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญา มิฉะนั้นจะริบมัดจำ ปรากฏตามสำเนาท้ายคำให้การ เมื่อโจทก์ได้รับโทรเลขของจำเลยแล้วจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา หาว่าจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าปรับ ความจริงโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองที่ไม่ยอมมารับโฉนด โจทก์หามีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาไม่ ส่วนข้อตกลงอย่างอื่นอยู่นอกเหนืออำนาจของจำเลยเมื่อบุคคลภายนอกไม่ยอมแยกถนนให้เป็นทางสาธารณะ และไม่ยอมทำคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธิน จำเลยไม่อาจบังคับได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำได้ โจทก์จะขอบังคับจำเลยให้คืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมจำเลยกับนายมะสามีจำเลยและญาติรวม ๖ คน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ ๒๗๖๓ เป็นส่วนของจำเลย ๒๐๐ ตารางวา ที่ดินแปลงนี้อยู่ติดกับถนนพหลโยธิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวจากตะวันตกไปตะวันออกจนจดถนนคลองซอยที่ ๑ ต่อมาจำเลยกับผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมได้ขอแบ่งแยกโฉนดเป็นของแต่ละคน แปลงหมายเลข ๑ ของนางเซาะ ยิ่งนิยม อยู่ติดกับถนนพหลโยธิน และของจำเลยอยู่สุดทางตะวันออกจดคลองซอยที่ ๑ คนละฟากคลองเป็นที่ดินของโจทก์ซื้อไว้จากผู้อื่นเพื่อจัดสรรขาย จำเลยกับผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมได้ตกลงกันตัดถนนทางด้านเหนือของที่ดินไปออกถนนพหลโยธินเป็นทางกว้าง ๕ เมตร และนางบีเยาะ อาดำ ซึ่งมีที่ดินอยู่เขตติดต่อกันทางตอนเหนือยกที่ดินให้ทำเป็นถนนอีก ๒ เมตร จึงเป็นถนนกว้าง ๗ เมตร โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๓ จำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์ในวันทำสัญญา ๙๐,๐๐๐ บาทตามสัญญาจะซื้อขายหมาย จ.๓ ส่วนเงินที่เหลือโจทก์จะชำระให้เมื่อจำเลยแบ่งแยกโฉนดเรียบร้อยแล้ว ต่อมานายมะแซผู้รับจ้างทำถนนไม่สามารถทำถนนได้ตลอดสาย เพราะนางเซาะ ยิ่งนิยม เจ้าของที่ดินแปลงที่ติดกับถนนพหลโยธินไม่ยอมให้ทำ ส่วนการแบ่งแยกโฉนดทำเสร็จเรียบร้อยโดยได้กันที่ทำถนนเป็นเจ้าของร่วมกัน เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปรับโฉนดเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๕ จำเลยได้โทรเลขให้โจทก์ไปรับโอนโฉนดและชำระเงินที่เหลือตามเอกสารหมาย ล.๑ หลังจากนั้นจำเลยก็ได้รับหนังสือของทนายโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๙ บอกเลิกสัญญาจะซื้อขาย อ้างว่าจำเลยผิดสัญญา โดยจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะได้ และทำคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธินไม่ได้ตามสัญญาข้อ ๖,๗ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำและชำระเบี้ยปรับตามสัญญา ทางจำเลยก็ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ไปรับโอนโฉนดและชำระเงินที่เหลือ จึงริบมัดจำ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๖ ระบุว่า “ในกรณีที่มีการทำถนนร่วมกัน ทุกฝ่ายได้ตกลงกันว่า ผู้ที่มีที่ดินร่วมกันจะสละที่ดินให้เป็นสาธารณะและช่วยกันลงทุนทำถนนร่วมกัน ประมาณปี ๒๕๑๔ เป็นต้นไป” สัญญาข้อ ๗ ว่า “ในกรณีทำคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธิน ทุกฝ่ายจะต้องลงทุนร่วมกันโดยเฉลี่ยทุนทรัพย์เท่ากัน” ศาลฎีกาเห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวเพียงแต่กล่าวว่าผู้ที่มีที่ดินร่วมกันจะสละที่ดินทำถนน และลงทุนทำถนนกับคอถนนเชื่อมกับถนนพหลโยธินโดยเฉลี่ยทุนทรัพย์เท่า ๆ กัน ไม่มีทางที่จะแปลไปได้ว่าจำเลยตกลงรับผิดชอบทำถนนตลอดสายเข้าไปในที่ดินส่วนของผู้อื่น ซึ่งมิได้ตกลงทำสัญญาและไปจดทะเบียนให้เป็นถนนสาธารณะด้วยดังโจทก์ฎีกา การที่นางเซาะ ยิ่งนิยม สละที่ดินทำถนนแล้ว แต่ยังไม่ยอมให้ทำคอถนนไปเชื่อมกับถนนพหลโยธิน คงเนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินคนละฟากคลองกับที่ดินที่โจทก์ซื้อจากจำเลย และจะใช้ถนนนี้เป็นทางสาธารณะเข้าออกที่ดินจัดสรรของโจทก์ไปยังถนนพหลโยธิน เมื่อโจทก์ใช้ถนนนี้เพื่อประโยชน์แก่ที่จัดสรรของโจทก์ไม่ได้ โดยนางเซาะไม่ยินยอมให้ทำคอถนน โจทก์จึงหาเหตุไม่ยอมรับซื้อที่ดินจำเลย หาใช่ความผิดของจำเลยไม่ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงชอบที่จะริบมัดจำได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒,๐๐๐ บาทแทนจำเลย.

Share