คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าไทยศิลาดลชนิดต่างๆ เพื่อขาย ได้เอาปลั๊ก สายไฟ โป๊ะไฟซึ่งใช้ผ้าไหมไทยทำด้วยมืออย่างประณีตมีราคาแพง ติดเข้ากับสินค้าไทยศิลาดลทำเป็นตะเกียงแล้วขายไปด้วยกัน โป๊ะกับคนโทศิลาดลมีราคาใกล้เคียงกันและโป๊ะมีราคามากกว่าคนโท เมื่อเอาเครื่องประกอบทองเหลืองเพื่อติดหลอดไฟรวมเข้ากับโป๊ะด้วยจะยิ่งมีราคามากขึ้นไปอีกจึงจะถือว่าสินค้าไทยศิลาดลของโจทก์เป็นทรัพย์ประธานเสมอไปหาได้ไม่ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าได้มีการเจาะก้นแจกันศิลาดลเพื่อยึดโคมไฟฟ้าไว้ให้มั่นคงแข็งแรงสินค้าไทยศิลาดลของโจทก์ซึ่งได้ประกอบเข้ากันกับเครื่องไฟฟ้าและโป๊ะไฟ จึงเป็นแต่ชิ้นส่วนของโคมไฟฟ้า ทั้งตามเอกสารที่โจทก์อ้างมีภาพสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะไฟด้วยกันและภาษาอังกฤษบรรยายประกอบ เห็นว่าเป็นภาพโฆษณาสินค้าไทยศิลาดลที่ทำเป็นโคมไฟฟ้าแบบราชวงศ์หมิงแบบขวดน้ำเต้าแบบหม้อชาหรือกาแฟลายมังกร แบบเทพนม แบบเศียรนาคแบบอื่นๆและแบบช้างฉะนั้นสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะและเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งได้ประกอบเข้าด้วยกัน จึงไม่ได้เป็นศิลปวัตถุสำหรับดูเล่นเพื่อความสวยงามหรือเป็นเครื่องประดับแต่เป็นโคมไฟฟ้าตามความเป็นจริง โจทก์จึงต้องเสียภาษีประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 3(ก) ร้อยละ 10 ของรายรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตเครื่องเคลือบหินเผาเรียกว่าไทยศิลาดล ได้เอาสายไฟฟ้ากับโป๊ะผ้าไหมประกอบเข้าเป็นอุปกรณ์ แล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและเสียภาษีประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1 (ง) ร้อยละ 2 ของรายรับแล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากโจทก์อ้างว่าเป็นสินค้าประเภทโคมไฟฟ้าต้องเสียภาษีประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 3(ก) ร้อยละ 10 ของรายรับและปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3), 89 ทวิ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 86,028.12 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เพราะเครื่องเคลือบหินเผาไทยศิลาดลของโจทก์เป็นศิลปวัตถุหัตถกรรมโดยอิสระสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนของสินค้าอื่นสายไฟฟ้ากับโป๊ะผ้าไหมไทยเป็นแต่เพียงส่วนผนวกซึ่งแยกออกจากกันได้ จึงไม่ได้เป็นโคมไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าดังกล่าวหรือพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียเงิน 86,028.12 บาท

จำเลยให้การร่วมกันว่า โจทก์ได้ผลิตเครื่องปั้นหินเผาไทยศิลาดลมาประกอบ แปรรูป แปรสภาพ เป็นโคมไฟฟ้า ซึ่งต้องเสียภาษีประเภทการค้า 1 การขายของ 3(ก) ร้อยละ 10 ของรายรับ มิใช่ประเภทการค้า 1 การขายของ 1(ง) ร้อยละ 2 ของรายรับ เมื่อโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มและอื่น ๆ ตามแบบแจ้งการประเมิน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นราคาของไทยศิลาดล

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าไทยศิลาดลชนิดต่าง ๆ เพื่อขาย โจทก์ได้เอาปลั๊ก สายไฟ โป๊ะไฟ ติดเข้ากับสินค้าไทยศิลาดลทำเป็นตะเกียงแล้วขายไปด้วยกัน โจทก์ใช้ผ้าไหมทำโป๊ะไฟด้วยมืออย่างประณีต โป๊ะไฟของโจทก์จึงมีราคาแพง คนโทศิลาดลขนาดใหญ่ราคา 1,320 บาท แยกราคาได้ดังนี้ คนโท 480 บาท ฐานไม้สัก 140 บาท เครื่องประกอบทองเหลืองเพื่อติดหลอดไฟ 200 บาท โป๊ะผ้าไหมบุพลาสติกเยอรมันภายใน 500 บาท โป๊ะกับคนโทศิลาดลมีราคาใกล้เคียงกัน และโป๊ะ มีราคามากกว่าคนโท เมื่อเอาราคาเครื่องประกอบทองเหลืองเพื่อติดหลอดไฟรวมเข้ากับโป๊ะด้วยจะยิ่งมีราคามากขึ้นอีก จึงจะถือว่าสินค้าไทยศิลาดล ของโจทก์เป็นทรัพย์ประธานเสมอไปหาได้ไม่ ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าได้มีการเจาะก้นแจกันศิลาดลเพื่อยึดโคมไฟไว้ให้มั่นคงแข็งแรง เช่นนี้ สินค้าไทยศิลาดลของโจทก์ซึ่งได้ประกอบเข้ากันกับเครื่องไฟฟ้าและโป๊ะ ไฟ จึงเป็นแต่ชิ้นส่วนของโคมไฟฟ้า ทั้งเมื่อได้ดูภาพสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะไฟด้วยกัน และอ่านข้อความที่บรรยายประกอบภาพ จะเห็นได้ว่าเป็นภาพโฆษณาสินค้าไทยศิลาดลที่ได้ทำเป็นโคมไฟฟ้าแบบราชวงศ์หมิง แบบขวดน้ำเต้า แบบหม้อชาหรือกาแฟลายมังกร แบบเทพนม แบบเศียรนาคแบบอื่น ๆ และแบบช้าง ฉะนั้นสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะ และเครื่องไฟฟ้าซึ่งได้ประกอบเข้าด้วยกัน จึงไม่ได้เป็นศิลปวัตถุสำหรับดูเล่นเพื่อความสวยงามหรือเป็นเครื่องประกอบดังข้ออ้างของโจทก์ แต่เป็นโคมไฟฟ้าตามความเป็นจริง ที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีและอื่น ๆ ตามแบบแจ้งการประเมินและที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share