แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องได้ความว่า เจ้าพนักงานผู้นั้นได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเฉพาะเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนตามกฎหมาย หรือระเบียบหรือที่ได้รับมอบหมายให้กระทำโดยตรงเท่านั้น
จำเลยทั้งเก้าเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยที่ 1เป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภออนุมัติและมีคำสั่ง ประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเปิดสมัยประชุมวิสามัญและ ชอบด้วยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ในการเรียกประชุมพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 54 กำหนด ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามสมัยประชุมและเป็นผู้เปิดและ ปิดประชุมเว้นแต่กรณีที่ยังไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องเรียกประชุมและเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม เมื่อนายอำเภอได้มีประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเปิดสมัยประชุมวิสามัญตามคำร้องขอของจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้แล้ว ผู้ที่มีหน้าที่เรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาประชุมตามวันที่ กำหนดย่อมต้องเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคือนายอำเภอ เท่านั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่มีหน้าที่ในการเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เว้นแต่ จะได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ เมื่อนายอำเภอไม่ได้มอบหมายให้ จำเลยเรียกประชุม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะเรียกประชุมสมัยวิสามัญดังกล่าวได้ แม้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเรียกประชุม สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 พร้อมสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาร่วมประชุม โดยมีจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ ประธานที่ประชุมในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสมัยวิสามัญ โดยชอบตาม พระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีหน้าที่ ต้อง เข้าร่วมประชุมสมัยวิสามัญซึ่งเรียกประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทกฎหมายหากมติที่ประชุมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งเก้า ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติโดยมิชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกำนันตำบลบ้านบัวและเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว จำเลยที่ 1 เป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว มีอำนาจหน้าที่พิจารณางบประมาณ ร่างข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารจึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยทั้งเก้ากับพวกรวม 34 คนในฐานสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวร่วมกันลงมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวในการประชุมสมัยวิสามัญของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว โดยไม่มีระเบียบวาระการประชุมและขัดต่อระเบียบว่าด้วยการขอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ได้ความตามทางไต่สวนของโจทก์ว่า โจทก์เป็นกำนันตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์และเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว จำเลยที่ 1เป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบลตามกฎหมายระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ โดยมีนายสาหัสประโลมรัมย์ เป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวเมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ในฐานะรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวมีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ในฐานะรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวมีหนังสือเรียกประชุมสมัยวิสามัญสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1ทำหน้าที่ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว จำเลยทั้งเก้ากับพวกรวม 34 คน จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 41 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวลงมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว อันเป็นการลงมติในเรื่องที่ไม่มีระเบียบวาระการประชุมและขัดต่อข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2534 ข้อ 16 เพราะมีการแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าสามวันก่อนกำหนดเวลาเปิดสมัยประชุม ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งกำนันตำบลบ้านบัวตามมติที่ประชุมดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งในที่สุดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์จึงยังดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์มีมูลความผิดที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งเก้ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษ” อันหมายความว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องได้ความว่า เจ้าพนักงานผู้นั้นได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเฉพาะเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนตามกฎหมายหรือระเบียบหรือที่ได้รับมอบหมายให้กระทำโดยตรงเท่านั้นหากปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้เลย
สำหรับคดีเรื่องนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นเหตุมาจากการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ดังนั้นจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ก่อนว่า การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวในวันดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวครั้งนี้เป็นการประชุมสมัยวิสามัญที่นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ได้อนุมัติให้เรียกประชุมได้ด้วยเหตุที่จำเลยทั้งเก้ากับพวกรวม 34 คนที่เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวร่วมกันลงชื่อขอให้นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์เปิดสมัยประชุมวิสามัญและเรียกประชุม ซึ่งนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์อนุมัติและมีคำสั่งประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวเปิดสมัยประชุมวิสามัญได้ชอบด้วย พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ในการเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 54 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามสมัยประชุมและเป็นผู้เปิดและปิดประชุมเว้นแต่กรณีที่ยังไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องเรียกประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม ดังนั้นเมื่อนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ได้มีประกาศให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวเปิดสมัยประชุมวิสามัญตามคำร้องขอของจำเลยทั้งเก้ากับพวกได้แล้วผู้ที่มีหน้าที่เรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวมาประชุมตามวันที่กำหนดย่อมต้องเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวคือนายสาหัส ประโลมรัมย์ เท่านั้น จึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวไม่มีหน้าที่ในการเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัว เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากนายสาหัส แต่นายสาหัสได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินการจัดประชุมหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.3 จัดทำขึ้นภายหลังที่มีการประชุมแล้ว เนื่องจากคำขอร้องแกมบังคับของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เมื่อนายสาหัสไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวในวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะเรียกประชุมสมัยวิสามัญดังกล่าวได้ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวตามเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 พร้อมสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวมาร่วมประชุม โดยมีจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบัวสมัยวิสามัญ โดยชอบตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำเลยทั้งเก้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมสมัยวิสามัญซึ่งเรียกประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่โดยตรงต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว หากมติที่ประชุมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเก้าก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157″
พิพากษายืน