แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อความที่จำเลยอภิปรายพาดพิงถึงโจทก์นั้นเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนความจริงอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายนั้นไม่ตรงต่อความจริงซึ่งเป็นความเท็จนั่นเอง ส่วนที่ว่าความจริงเป็นอย่างไรนั้น คำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายไว้แล้วว่า ความจริงในการไปทอดกฐินครั้งนั้นไม่มีการลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนร่วมไปกับคณะทอดกฐินดังที่จำเลยอภิปรายแต่ประการใด ดังนี้ หากจำเลยมั่นใจว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นความจริง กล่าวคือ โจทก์เคยไปทอดกฐินที่ต่างประเทศและมีการลักลอบซุกซ่อนเฮโรอีนไว้ที่ใต้ฐานพระประธานไปด้วย จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศทำการตรวจค้นบุคคลในคณะด้วยวิธีเปลื้องผ้าทำให้บุคคลในคณะซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายทั่วหน้าแล้ว จำเลยย่อมให้การต่อสู้คดีโดยยืนยันตามข้อความอภิปรายและนำสืบพิสูจน์ได้ คำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องจนไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม
ขณะอภิปรายนั้นจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จำเลยต้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก ช. รัฐมนตรี-ว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยได้รับมอบหมายจากพรรคให้อภิปรายการบริหารงานของคนบางคนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นข้อหนึ่งที่จำเลยต้องอภิปรายในครั้งนั้น โจทก์ชื่อพลตรีศรชัย เป็นนายทหาร-รับราชการประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาช่วยราชการที่สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตามคำขอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง-มหาดไทย และโจทก์เป็นคนสนิทหรือคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง-มหาดไทย เนื่องจากเคยรับราชการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งขณะนั้นรัฐมนตรี-ว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก โจทก์เป็นฝ่ายเสนาธิการประจำตัวผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ทั้งในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีโจทก์คนเดียวที่ชื่อศรชัยและทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่จำเลยอภิปรายได้ความว่า คุณศรชัยคนสนิทของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเคยไปทอดกฐินต่างประเทศและมียาเสพติดให้โทษเฮโรอีนอยู่ที่ใต้ฐานพระประธาน จนคณะทั้งหมดถูกตรวจสอบทั้งภายนอกภายใน เป็นเรื่องอับอายของบรรดาภรรยาข้าราชการทั้งหมด ฝรั่งเขาตรวจไม่ให้เกียรติโดยบรรดาคุณหญิงคุณนายถูกตรวจภายในเปลือยกายล่อนจ้อนน่าอายจริง ๆ ข้อความดังกล่าวจำเลยประสงค์จะอภิปรายถึงความประพฤติของคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าเคยมีพฤติการณ์น่ารังเกียจกระทำผิดกฎหมาย ทำให้คณะที่ไปทอดกฐินด้วยเสียหายได้รับความอับอายขายหน้าในต่างประเทศ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังนำมาทำงานราชการในกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีเช่นว่านี้ไม่น่าไว้วางใจตามความต้องการของจำเลยที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้น และเพื่อให้ผู้ฟังทราบว่าเป็นใครจึงระบุชื่อคุณศรชัยเช่นนี้ แม้จะไม่ระบุยศ ตำแหน่ง และนามสกุลของโจทก์ก็พอให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์ เพราะโจทก์ชื่อพลตรีศรชัย เป็นคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้นำคณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสจากพลเอก ช.ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะถูกอภิปราย แต่การไปทอดกฐินครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสหรัฐ-อเมริกาได้จับกุม ช. ผู้ร่วมเที่ยวบินไปกับคณะทอดกฐิน กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับพวกลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพวกของ ช.ถูกจับไว้ก่อนที่คณะทอดกฐินจะเดินทางไปถึง ทั้งโจทก์นำคณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสครั้งนั้นไม่ได้นำพระประธานไปด้วย และไม่ได้ถูกสงสัยว่ามีการลักลอบนำเฮโรอีนมากับคณะทอดกฐิน คงผ่านการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาตามปกติธรรมดา ไม่มีการตรวจค้นโดยให้เปลือยกายล่อนจ้อนดังที่จำเลยอภิปรายดังนั้น คำอภิปรายของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการกล่าวข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การที่จำเลยได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 2529 หรือ 2530 นับถึงวันอภิปรายนานกว่า 5 ปี จำเลยย่อมมีเวลาตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาว่าถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่ จำเลยกลับนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยจะอภิปรายในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่เป็นความจริงย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็ไม่อาจพ้นความรับผิดต่อโจทก์ได้
โจทก์เป็นนายทหารยศพลตรี มาช่วยราชการทำหน้าที่เลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งหน้าที่อันมีเกียรติและเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่องานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนอกจากจะเสียหายแก่โจทก์แล้ว ยังมีผลกระทบกระเทือนแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปในทางเสื่อมเสียด้วย จำเลยเป็นผู้แทนของปวงชนอภิปรายในสภาผู้แทน-ราษฎรอันทรงเกียรติ และเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองระดับชาติ ข้อความที่อภิปรายปกติต้องตรงกับความจริงและเชื่อถือได้ เมื่อปรากฏเป็นความเท็จ ทั้งได้มีการถ่ายทอดคำอภิปรายของจำเลยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและแพร่ภาพทางโทรทัศน์สีช่อง 9 และช่อง 11 ไปทั่วประเทศ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์มากกว่าปกติเป็นทวีคูณ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์500,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว