คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยพบเด็กหญิงม.ที่ปากซอยนั้นจิตใจของเด็กหญิงม.กำลังอยู่ในภาวะว้าวุ้นสับสนจะกลับบ้านตามคำสั่งของโจทก์ร่วมก็ไม่อยากกลับเพราะกลัวจะถูกทำโทษครั้นจะไปที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนจึงบอกให้จำเลยพาไปที่ใดก็ได้สุดแล้วแต่ใจของจำเลยหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม.ไปเด็กหญิงม.อาจจะกลับไปบ้านก็ได้เมื่อโจทก์ร่วมออกมาดูเห็นจำเลยพาเด็กหญิงม. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปซึ่งหากจำเลยไม่พาไปโจทก์ร่วมก็ต้องออกมาพบและพาเด็กหญิงม. กลับบ้านการที่จำเลยพาเด็กหญิงม.ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กหญิงม.ไปเสียจากอำนาจปกครองของบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บิดาของผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก จำคุก 3 ปี และปรับ 6,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มาก มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือนและปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อนขณะกระทำผิดอยู่ในระหว่างศึกษาและตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวใหม่สักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ2 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บ้านของโจทก์ร่วมกับบ้านของบิดามารดาจำเลยอยู่ในซอยเดียวกันโดยอยู่ตรงกันข้าม โจทก์ร่วมเคยห้ามปรามจำเลยมิให้มายุ่งเกี่ยวกับเด็กหญิงม. บุตรของโจทก์ร่วมซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษเมื่อวันที่8 กันยายน 2537 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ขณะจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิงม. จากโรงเรียนเพื่อไปส่งที่บ้านของโจทก์ร่วม พบกับโจทก์ร่วมและนางสมจิตรที่ปากซอยเข้าบ้าน โจทก์ร่วมเตือนจำเลยว่าอย่ามายุ่งเกี่ยวกับเด็กหญิง ม.อีกแล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์กลับไปบ้านของจำเลย โจทก์ร่วมบอกเด็กหญิงม.ให้กลับบ้าน จากนั้นโจทก์ร่วมกับนางสมจิตรกลับไปรออยู่ที่บ้านขณะเด็กหญิงม.เดินกลับบ้านเกิดกลัวขึ้นมาว่าจะถูกทำโทษจึงไม่กล้าเข้าบ้านแล้วเดินย้อนกลับไปทางปากซอยเมื่อไปถึงปากซอยก็พบจำเลยซึ่งขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของเด็กหญิงม. บอกจำเลยว่าไม่กล้ากลับบ้าน กลับจะถูกทำโทษ ให้พาไปที่ไหนก็ได้จำเลยจึงพาเด็กหญิงม. ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนจำเลย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยออกมาพบเด็กหญิงม. ที่ปากซอยนั้น จิตใจของเด็กหญิงม. กำลังอยู่ในภาวะว้าวุ่นสับสน จะกลับบ้านตามคำสั่งของโจทก์ร่วมก็ไม่อยากกลับเพราะกลัวจะถูกทำโทษ ครั้นจะไปที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน จึงบอกให้จำเลยพาไปที่ใดก็ได้สุดแล้วแต่ใจของจำเลย หากจำเลยไม่พาเด็กหญิง ม. ไปเด็กหญิงม.อาจจะกลับไปบ้านก็ได้นอกจากนี้ยังได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าเมื่อโจทก์ร่วมออกมาดู เห็นจำเลยพาเด็กหญิงม. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไป ดังนั้นหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม. ไป โจทก์ร่วมก็ต้องออกมาพบเด็กหญิงม. และพาเด็กหญิงม. กลับบ้าน การที่จำเลยพาเด็กหญิงม. ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนของจำเลย จึงเป็นการพรากเด็กหญิงม. ไปเสียจากอำนาจปกครองของบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share