คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5398/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ ฟ้องโจทก์มีแต่เรื่องละเมิด เรื่องฝากทรัพย์จึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี ศาลจะพิพากษาให้บังคับชำระหนี้ตามสัญญาฝากทรัพย์ไม่ได้ และเรื่องฝากทรัพย์มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ขึ้นวินิจฉัยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ แต่พยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่แต่งกายเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ยืนเก็บบัตรจอดรถและปล่อยรถยนต์ออกจากอาคารจอดรถ จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของอาคารจอดรถ อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 มีทางเข้า 1 ทาง ทางออก 1 ทาง ปากทางมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยเก็บเงิน 5 บาท พร้อมกับออกบัตรค่าเช่าที่จอดรถราคา5 บาท โดยจดทะเบียนรถไว้ในบัตรด้วย ซึ่งที่ด้านหน้าบัตรตอนล่างมีข้อความว่าบริการรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย ด้านหลังของบัตรมีข้อความว่า1. ผู้ขับขี่ต้องเก็บบัตรไว้กับตัว เพื่อป้องกันรถหาย 2. กรุณาคืนบัตรทุกครั้ง ก่อนออกจากบริเวณที่จอดรถ ฯลฯ 6. บัตรสูญหายหรือไม่นำมาแสดง บริษัทจะไม่อนุญาตให้นำรถออกจนกว่าจะหาหลักฐานมาแสดงจนเป็นที่พอใจ และในที่จอดรถมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเดินตรวจตรา ที่กำแพงบริเวณลานจอดรถก็มีคำเตือนว่า กรุณาอย่าลืมบัตรจอดรถเพราะรถยนต์อาจสูญหาย สำหรับทางขาออกมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ที่คอกกั้นคอยตรวจรับบัตรและปล่อยรถออก พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จะปรากฏว่าผู้มาใช้บริการที่จอดรถจะเป็นผู้เลือกที่จอดรถเอง ดูแลปิดประตูรถและเก็บกุญแจรถไว้เอง และที่บัตรค่าเช่าจอดรถด้านหลังจะมีข้อความว่า หากมีการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นทุกกรณี ผู้ครอบครองต้องรับผิดชอบเองทุกประการก็ตาม แต่ก็ย่อมจะทำให้ผู้ใช้บริการจอดรถโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าที่อาคารจอดรถของจำเลยที่ 5 นี้ มีบริการรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่จะนำรถเข้ามาจอดขณะมาติดต่อธุรกิจหรือซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 5 โดยรับดูแลความเรียบร้อยความปลอดภัยทั้งขณะที่รถจอดอยู่ในอาคารและขณะที่รถจะออกจากอาคาร ซึ่งผู้ที่มิใช่เจ้าของรถและถือบัตรค่าเช่าที่จอดรถจะลักลอบนำรถออกไปไม่ได้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบก่อนทั้งนี้โดยที่ผู้ใช้บริการที่จอดรถจะต้องเสียเงิน 5 บาทเป็นค่าตอบแทน การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำก่อน ๆ ของจำเลยทั้งห้า ก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยทั้งห้าต้องดูแลรักษาความเรียบร้อย ความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่นำเข้ามาจอดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคารสถานที่ตลอดจนรถยนต์ที่เข้ามาจอดและความเรียบร้อยโดยทั่วไป ไม่ปรากฏว่ามีหน้าที่โดยเฉพาะในการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์ของโจทก์ได้เกิดต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 งดเว้นป้องกันการโจรกรรมรถยนต์นั้น การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไปจะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันผลการโจรกรรมรถยนต์นั้นไม่ได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยืนเก็บเงิน ออกบัตร จดทะเบียนรถลงในบัตร และตรวจบัตรขณะที่รถยนต์ออกจากลานจอดรถอยู่ที่คอกกั้นตรงทางเข้าออกลานจอดรถ หน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4จึงเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของรถนำรถออกไปจากลานจอดรถหรือป้องกันการโจรกรรมรถยนต์โดยตรง ซึ่งที่ลานจอดรถและที่ด้านหลังบัตรจอดรถ มีข้อความว่า ผู้ใช้บริการลานจอดรถจะต้องเก็บรักษาบัตรไว้เพื่อตรวจขณะจะนำรถออกจากลานจอดรถ มิฉะนั้น บริษัทจะไม่ยอมให้นำรถออกไปจนกว่าจะหาหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยัน เมื่อทางเข้าออกลานจอดรถมีอยู่ทางเดียว หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งอยู่ที่คอกกั้นตรวจบัตรอย่างเคร่งครัดก็ยากที่รถยนต์ของโจทก์จะถูกลักไปได้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของโจทก์ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 5 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 นายจ้างย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อโจทก์ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
คดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีข้อหาฝากทรัพย์ แต่เป็นคดีข้อหาละเมิด แม้ว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะไม่ฎีกาในเรื่องจำนวนความเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์ ศาลฎีกาก็เห็นควรวินิจฉัยถึงความเสียหายของโจทก์ในฐานละเมิดตามที่ได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วต่อไป ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามป.พ.พ. มาตรา 438

Share