แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กำหนด 15 วันตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 1 ของมาตรา 174 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น หมายความเฉพาะในชั้นยื่นฟ้องและขอหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีเท่านั้นจะนำมาใช้ในชั้นฎีกาไม่ได้
ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 บัญญัติว่า’เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ฯลฯ’ นั้น ย่อมหมายความรวมถึงการที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ให้บังคับคดีไปตามข้อกล่าวอ้างนั้นด้วย เพราะการบังคับคดีย่อมทำได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
คำว่า ‘เคหะ’ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 หมายถึงสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ฯลฯ แต่ห้องพิพาทจำเลยเช่าเพื่อประกอบการค้าจึงมิใช่เคหะตามความหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาตรา 17 โจทก์บอกเลิกการเช่าได้
ถ้าศาลเห็นว่าพยานประเด็นที่จำเลยขอให้ส่งประเด็นไปสืบนั้นเป็นพยานหลักฐานฟุ่มเฟือยเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเหล่านั้นเสียได้ ตามนัยมาตรา 86 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณานั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ถ้าจำเลยจะโต้แย้งคำสั่งนั้นอย่างใดก็ชอบที่จะแถลงข้อโต้แย้งให้ศาลชั้นต้นจดลงไว้ในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้จึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้พิจารณารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามต่างเช่าห้องจากโจทก์เพื่อทำการค้าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไป จำเลยก็ไม่ออก จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยออกจากห้องเช่าของโจทก์และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยใช้ห้องพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยและได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดินพ.ศ. 2504 โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวเลิกการเช่ากับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องห้องรายพิพาทโจทก์เช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้บอกเลิกการเช่าแก่โจทก์แล้ว เพราะโจทก์เอาห้องพิพาทมาให้เช่าช่วง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยตกลงเช่าใหม่กับโจทก์อีก5 ปี และได้เสียเงินกินเปล่าให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยก่อนกำหนดไม่ได้ หากให้จำเลยออก โจทก์ต้องชดใช้เงิน เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้ง เพราะไม่มีมูลที่จำเลยจะฟ้องแย้งและเป็นการฟ้องที่มีเงื่อนไข
สืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว จำเลยขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ศาลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องสืบพยานดังกล่าว จึงสั่งให้งดเสีย จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้าน
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยขอเลื่อนเพราะทนายป่วย ศาลเห็นว่าโจทก์ได้แถลงคัดค้านไว้แล้ว จึงไม่อนุญาตให้เลื่อน และสืบพยานโจทก์ไป แล้วพิพากษาว่า จำเลยทุกสำนวนได้ประกอบการค้าในห้องพิพาท แม้จะอยู่อาศัยด้วย ก็หาเป็นเคหะควบคุมตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 ไม่จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้ว สัญญาเช่าเป็นอันระงับ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมิได้บอกเลิกการเช่าต่อโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามสำนวนและบริวารออกจากห้องเช่า และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสามสำนวนทิ้งฟ้องฎีกาแล้วหรือไม่นั้น กำหนด 15 วันตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 1 ของมาตรา 174 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น หมายความเฉพาะในชั้นยื่นฟ้องและขอหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีเท่านั้น จะนำมาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้แต่คดีก็ฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้โจทก์ได้รับไปแล้ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทิ้งฟ้องฎีกา
ในประเด็นที่ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538บัญญัติว่า “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่….” นั้นย่อมหมายความรวมถึงการที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ให้บังคับคดีไปตามข้อกล่าวอ้างนั้นด้วย เพราะการบังคับคดีย่อมทำได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น จำเลยย่อมจะยกเอาข้อที่ให้การกล่าวอ้างว่าจำเลยได้ตกลงเช่ากับโจทก์ใหม่อีก 6 ปีนับแต่วันครบกำหนดสัญญาเช่าเดิม โดยจำเลยเสียเงินกินเปล่าให้โจทก์ 22,000 บาท ซึ่งจำเลยไม่มีสัญญาเช่ามาแสดงนั้นขึ้นต่อสู้ให้บังคับคดีไปตามข้อกล่าวอ้างหาได้ไม่
ในประเด็นที่ว่า ห้องพิพาทเป็น “เคหะ” ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 หรือไม่นั้น เห็นว่า “เคหะ” ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 นั้น คือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยฯลฯ แต่จำเลยเช่าห้องพิพาทเพื่อประกอบการค้า ห้องพิพาทที่จำเลยทั้งสามสำนวนเช่ามิใช่เคหะตามความหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวและจำเลยทั้งสามสำนวนก็มิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. 2504 มาตรา 17และโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าเสียได้
ในประเด็นที่ว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานประเด็นของจำเลยเสียชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานประเด็นของจำเลยที่จำเลยขอให้ส่งประเด็นไปสืบนั้น เป็นพยานหลักฐานฟุ่มเฟือยเกินสมควร ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเหล่านั้นเสียได้ ตามนัยมาตรา 86 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานประเด็นของจำเลยเสียนั้น จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
ในประเด็นสุดท้ายที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีตามที่จำเลยขอเลื่อน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณานั้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ถ้าจำเลยจะโต้แย้งคำสั่งนั้นอย่างใด ก็ชอบที่จะแถลงข้อโต้แย้งให้ศาลชั้นต้นจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน หรือยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้ จึงจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ แต่กรณีนี้จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226และคำสั่งนั้นได้ยุติแล้ว
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย