คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่กระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าพื้นที่ที่ได้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทให้แก่ผู้ขอประทานบัตรเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 2479 และปี 2480 และไม่ทราบว่าบริเวณเทือกเขาสมอคอนอันเป็นที่ตั้งของประทานบัตรของโจทก์เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและโบราณวัตถุ จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบร่วมกันไปตรวจหาข้อเท็จจริง และแม้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีจำเลยที่ 2 กรมศิลปากรที่ 3 และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมที่ 4 เคยไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกประทานบัตรแล้วแต่เมื่อฟังไม่ได้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 1 ผู้ออกประทานบัตรเหมืองแร่พิพาททราบข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่กระทรวงอุตสาหกรรม จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่พิพาทของโจทก์ซึ่งรับโอนประทานบัตรมาจากผู้ขอประทานบัตรโดยอ้างว่าประทานบัตรของโจทก์อยู่ในบริเวณที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และผู้ขอประทานบัตรเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ณ พื้นที่คำขอประทานบัตรไม่ตรงต่อความจริงโดยรายงานว่าบริเวณที่ทำเหมืองหรือบริเวณใกล้เคียงไม่มีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและโบราณวัตถุเป็นเหตุให้มีการออกประทานบัตรโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ จึงเป็นเหตุผลที่ถูกต้องและชอบด้วยข้อเท็จจริงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิแห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 สั่งเพิกถอนประทานบัตรดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนประทานบัตรของจำเลยที่ 1และแม้โจทก์จะไม่ทราบว่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรนั้นอยู่ในบริเวณซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณวัตถุ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510มาตรา 9 ทวิ วรรคสอง

Share