คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30ที่บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักกับค่าจ้างค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดในระหว่างที่ลูกจ้างยังไม่พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างเท่านั้นดังนี้ การที่โจทก์จำเลยตกลงกันเมื่อโจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยนำค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์หลังจากโจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากถูกเลิกจ้าง มาชำระหนี้เงินกู้สวัสดิการของโจทก์ตามข้อตกลงก่อน เมื่อไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ข้อตกลงกันระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องลดพนักงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 86,940 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงิน 14,490 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออีก 5 วัน เป็นเงิน 2,415 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 16 ปี 6 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษอีกปีละ 15 วัน คิดเป็นเงิน 79,659 บาท ก่อนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้กลั่นแกล้งและโยกย้ายงานของโจทก์โดยไม่จ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นและค่าน้ำมันรถยนต์ให้โจทก์โจทก์จึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถหางานทำได้โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท เนื่องจากโจทก์นำเงิน 20,000 บาท เป็นประกันการทำงานของโจทก์ โดยจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยรวมกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 101,430 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 2,415 บาทคืนเงินประกันจำนวน 20,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 900,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทกื*เนื่องจากจำเลยประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง รวมทั้งลดพนักงานด้วย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ทั้งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2540 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างตามจำนวนวันลาหยุดพักผ่อนประจำปี 5 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 103,845 บาท เนื่องจากโจทก์ขอกู้เงินสวัสดิการไปจากจำเลยจำนวน 100,000 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดและมีข้อตกลงว่า หากโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ยินยอมชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้จำเลยทันที เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ปรากฏว่าโจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำนวน 74,022.52 บาท จำเลยจึงใช้สิทธิหักเงินกู้จำนวนดังกล่าวกับเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับดังกล่าวข้างต้น คงเหลือเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์จำนวน 24,630.23 บาท ซึ่งจำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ สำหรับเงินจำนวน20,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่าได้นำมาประกันการทำงานของโจทก์นั้น เนื่องจากโจทก์และจำเลยมีการตกลงแปลงหนี้ใหม่จากเงินประกันการทำงานมาเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ถึงกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน ที่เหลือจากหักชำระหนี้แล้วจำนวน 24,630.23 บาท และคืนตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี มาหักชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้เงินสวัสดิการจากจำเลยขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักกับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ได้รับความเดือด ร้อนเพราะถูกหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ในระหว่างที่ลูกจ้างยังไม่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ส่วนข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยในคดีนี้เป็นการตกลงให้มีการชำระหนี้เงินกู้สวัสดิการของโจทก์เมื่อโจทก์พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยนำค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์หลังจากโจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เนื่องจากถูกเลิกจ้างมาชำระหนี้เงินกู้สวัสดิการของโจทก์ตามข้อตกลงก่อน จึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน

Share