คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำหนังสือให้โจทก์ไว้มีใจความว่า ‘ข้าพเจ้านายศุภวัตรแก้วประดับได้ยืมเงินจากนายยีซบมูฮำหมัดจำนวน 130,000 บาท และจะชำระคืนให้ตามเช็คธนาคารชาร์เตอร์เลขที่ 917820 ซึ่งได้ให้ไว้เป็นการค้ำประกัน’ แล้วลงลายมือชื่อไว้ ดังนี้ หนังสือนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามกฎหมายแล้ว
เช็คธนาคารชาร์เตอร์ฉบับดังกล่าวลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นวันสั่งจ่ายนั้น ถือว่าหนี้เงินยืมนั้นได้กำหนดวันชำระไว้แล้ว คือวันที่ลงในเช็คดังกล่าวนั้นเอง เมื่อเช็คถึงกำหนดแล้วโจทก์นำไปขึ้นเงินไม่ได้ย่อมถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย
การที่โจทก์รับเช็คของบุคคลอื่นไว้เป็นการค้ำประกันหนี้ นั้น ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์แห่งหนี้และเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะทำให้จำเลยพ้นความรับผิดตามหนี้นั้น
ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานและแจ้งวันกำหนดนัดสืบพยานให้โจทก์จำเลยทราบ หลังจากนั้นมีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์สองคราวนับตั้งแต่วันทำการชี้สองสถานเป็นต้นมาจนกระทั่งวันสืบพยานโจทก์ครั้งหลังสุดเป็นเวลา 2 เดือนเศษหากจำเลยมีความสนใจในคดีของตนตามสมควรย่อมมีเวลาที่จะตระเตรียมคดีได้เพียงพอ แต่จำเลยก็มิได้ยื่นบัญชีพยานเมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีพยานก็มีผลเท่ากับจำเลยไม่มีพยานจะนำสืบ จำเลยจะอ้างตนเองเข้าสืบย่อมไม่ได้ที่ศาลล่างไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยรับว่าได้ทำเอกสารการกู้ยืมแล้ว ย่อมไม่มีประเด็นเรื่องปิดอากรแสตมป์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองยืมเงินโจทก์ 130,000 บาท ตกลงชำระคืนตามเช็คของธนาคารชาร์เตอร์ที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่าย ครั้นถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงิน แต่เรียกเก็บไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องรวมกับเงินต้นเป็น138,100 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงิน 130,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ และได้ออกเช็คไว้ประกันหนี้ตามฟ้องจริง แต่ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว เอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่หลักฐานกู้ยืมที่จะนำมาฟ้องร้อง โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถาม ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เอกสารท้ายฟ้องถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมผูกพันจำเลยที่ 2 ผู้เดียว ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้ว มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประเด็นแรกมีว่า เอกสารหมาย จ.3 (สำเนาเอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้อง) เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายศุภวัตร แก้วประดับได้ยืมเงินนายยีซบ โมฮำหมัด จำนวน 130,000 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาท)และจะชำระคืนให้ตามเช็คธนาคารชาร์เตอร์ เลขที่ 917820 ซึ่งได้ให้ไว้เป็นการค้ำประกัน” ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องการกู้ยืมเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ได้บัญญัติไว้ว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามเอกสารดังกล่าวแล้ว เห็นได้ชัดถึงการที่จำเลยที่ 2กู้ยืมเงินจำนวน 130,000 บาทไปจากโจทก์ โดยมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ที่จะต้องรับผิดในฐานะผู้ยืมลงไว้เป็นสำคัญครบถ้วนที่จะใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 แล้ว

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีกำหนดวันชำระเงินคืนไม่ปิดอากรแสตมป์ ทั้งการที่โจทก์ยอมรับเช็คของจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ และเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 2 มาเป็นจำเลยที่ 1 แทนนั้นเห็นว่า การชำระเงินคืนตามข้อตกลงที่ว่า ชำระคืนให้ตามเช็คธนาคารชาร์เตอร์เลขที่ 917820 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นวันที่สั่งจ่ายนั้นถือได้ว่าหนี้เงินยืมนั้นได้กำหนดวันชำระไว้แล้วคือวันที่ที่ลงในเช็คดังกล่าวนั้นเอง แม้จะไม่มีวันเดือนปีกำหนดไว้ดังข้ออ้างฎีกาจำเลย ศาลฎีกาก็เห็นว่าหาเป็นเหตุที่จะทำให้หลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นเสียไปไม่ ส่วนในเรื่องอากรแสตมป์จะปิดถูกต้องครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยมิได้โต้แย้งกลับยอมรับว่าได้ทำเอกสารหมาย จ.3 จริง ประเด็นข้อโต้เถียงของจำเลยมีเพียงว่าเอกสารหมาย จ.3 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือไม่ อันเป็นปัญหาการตีความตามเอกสาร สำหรับข้ออ้างฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์รับเช็คของจำเลยที่ 1 ไว้ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้และเปลี่ยนตัวลูกหนี้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เห็นว่าเช็คดังกล่าวเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเก็จซูม่า จำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ไว้เพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 2 ตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.3 ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหาใช่เป็นการเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้หรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้ดังจำเลยที่ 2 ฎีกาไม่

ส่วนปัญหาว่าโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามการชำระหนี้ก่อนหรือไม่นั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กำหนดวันชำระหนี้ให้ถือเอาวันที่ที่ลงในเช็คคือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2518 อันเป็นวันที่สั่งจ่ายเป็นกำหนดวันชำระหนี้เงินยืมดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ได้ทวงถามเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระแล้วนำไปขึ้นเงินไม่ได้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดทำการชี้สองสถานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2518 และได้กำหนดวันนัดสืบพยานครั้งแรก โดยกำหนดให้สืบพยานโจทก์วันที่ 28มกราคม 2519 ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 21 มกราคม 2519ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอถอนตัวศาลอนุญาต ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานโจทก์วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519 แต่เมื่อถึงวันนัดศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีตามคำร้องของทนายโจทก์ไปอีกครั้งหนึ่งโดยให้เลื่อนคดีไปวันที่ 4 มีนาคม2519 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งหลังนี้เองทนายของจำเลยคนเดียวกันนี้เองยื่นใบแต่งทนายรับแก้ต่างให้จำเลยเข้ามาใหม่ และพร้อมกันนั้นได้ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเพิ่งทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงจากจำเลย และมีความจำเป็นต้องไปแก้ต่างให้จำเลยอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงพระนครเหนือ พิเคราะห์แล้วเห็นว่านับตั้งแต่วันที่ศาลได้ทำการชี้สองสถานเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงวันนัดสืบพยานครั้งหลังสุดเป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษ หากจำเลยมีความจริงใจหรือสนใจในคดีของตนตามสมควร ย่อมมีเวลาที่จะตระเตรียมคดีได้เพียงพอ แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้แต่การระบุพยานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กฎหมายบังคับให้ยื่น จำเลยกลับปล่อยปละละเลยแสดงถึงความไม่สนใจ ทั้งเหตุแห่งการขอเลื่อนคดีก็ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลอันควร ที่จำเลยฎีกาว่า แม้ศาลจะสั่งงดสืบพยานจำเลย ก็ควรให้จำเลยอ้างตนเองเข้านำสืบนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยไม่ยื่นบัญชีระบุพยานมีผลเท่ากับจำเลยไม่มีพยานที่จะนำสืบ ที่ศาลล่างไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยนั้นชอบแล้ว

ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share