แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่ง บรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.พ.ศ. 2477 มาตรา 4 ระบุว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เมื่อปรากฏว่า ถ. บิดาผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับมารดาผู้ร้องก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ใช้บังคับผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ถ. และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของ ถ. ส่วนผู้คัดค้านเมื่อจดทะเบียนสมรสกับ ถ. โดยถูกต้องตามกฎหมายมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของ ถ. เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. ได้ด้วยกัน ผู้ร้องฎีกาว่า ทรัพย์มรดกเป็นสินสมรสเพราะเป็นทรัพย์สินที่ถ. บิดาผู้ร้องกับมารดาผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทนั้น เป็นเรื่องนอกประเด็นเพราะประเด็นพิพาทแห่งคดีมีเพียงว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านฝ่ายใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. ผู้ตายเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้ร้องรับเงินค่าสิทธิการเช่าบ้านมา200,000 บาท แล้วยักยอกไว้ 165,000 บาท เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ทายาทคนอื่น ผู้ร้องต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกและผู้ร้องมีพฤติการณ์และการกระทำที่ปฏิปักษ์กับกองมรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำร้องคัดค้าน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลจะตั้งฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ย่อมแล้วแต่ศาลจะพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ดังนั้นเมื่อพฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าการจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ หากให้จัดการร่วมกันแล้วจะเป็นประโยชน์แก่กองมรดกและทายาททุกคน ก็สมควรตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกจ่าสิบเอกวิรัช พันธุรักษ์ เป็นผู้ร้อง นางพิมพ์พันธุรักษ์ เป็นผู้คัดค้าน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถม และนางทับทิมพันธุรักษ์ ผู้เป็นบิดามารดา ส่วนผู้คัดค้านขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถม พันธุรักษ์ ผู้เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายต่างคัดค้านว่า อีกฝ่ายหนึ่งไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้และผู้ร้องอ้างว่ากองมรดกของนายแถมเป็นสินสมรสระหว่างนายแถมกับนางทับทิม ผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก ส่วนผู้คัดค้านอ้างว่า มารดาผู้ร้องกับนายแถมมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนายแถมผู้คัดค้านเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแถมผู้ตาย
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถมผู้ตาย และตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางทับทิมผู้ตาย
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายแถมและนางทับทิมพันธุรักษ์ โดยบิดามารดาผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภรรยาเมื่อปี พ.ศ. 2475 เกิดบุตรด้วยกัน 9 คน วันที่ 23 มกราคม 2523นางทับทิมถึงแก่กรรมเนื่องจากเลือดออกในสมอง ต่อมานายแถมกับผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2525วันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 นายแถมถึงแก่กรรมเนื่องจากไตวายและติดเชื้อแทรกซ้อน ก่อนนายแถมถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินกับเงินฝากในธนาคาร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าฝ่ายใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถมผู้ตาย เห็นว่า นายแถมกับนางทับทิมบิดามารดาผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภรรยา เมื่อปี พ.ศ. 2475อันเป็นเวลาก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4 ระบุว่า บทบัญญัติ บรรพ 5ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแถมเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายแถม ส่วนผู้คัดค้านเมื่อจดทะเบียนสมรสกับนายแถมโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายแถมเช่นกันทั้งสองฝ่ายย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถมได้ด้วยกัน และต่างมีคุณสมบัติไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718ที่ผู้ร้องฎีกาว่าทรัพย์มรดกเป็นสินสมรสเพราะเป็นทรัพย์สินที่นายแถมกับนางทับทิมบิดามารดาผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นเพราะในชั้นนี้ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านฝ่ายใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถมผู้ตายเท่านั้นและที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้ร้องรับเงินค่าสิทธิการเช่าบ้านมา200,000 บาท แล้วยักยอกไว้ 156,000 บาท เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ทายาทคนอื่นผู้ร้องต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง และผู้ร้องมีพฤติการณ์และการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับกองมรดกนั้น เห็นว่า ข้ออ้างตามฎีกาดังกล่าว ผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำร้องคัดค้านจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและในการที่ศาลจะตั้งฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั่วไปแห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ หากได้จัดการร่วมกันแล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่กองมรดกและทายาททุกคน ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายแถมผู้ตายนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน