คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดได้ หากได้ราคาไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์เป็นเงิน884,016 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อ 48 เดือน เดือนละ 18,417 บาทแต่จำเลยชำระค่าเช่าซื้อได้เพียง 6 งวด ก็ผิดสัญญา โจทก์เรียกร้องเอาเงินจำนวน 353,298 บาท ที่ขาดจำนวนตามราคาเต็มในสัญญาเช่าซื้อหลังจากนำรถยนต์ขายทอดตลาดแล้ว โดยที่จำเลยมิได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อ จึงเป็นการเรียกร้องค่าปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดค่าปรับลงเป็นจำนวนตามที่เห็นสมควรได้.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าซื้อรถยนต์แล้วผิดสัญญา ขอให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 353,298 บาท จำเลยให้การว่าไม่ได้ผิดนัด และเลิกสัญญากันแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 39,784 บาท พร้อมดอกเบี้ยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงิน 58,201 บาท พร้อมดอกเบี้ยโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกัน และตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2524จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ซีตรอง จากโจทก์ 1 คัน ในราคา884,016 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 48 งวด งวดละ 18,417 บาททุกวันที่ 20 ของเดือน งวดแรกเริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 20กันยายน 2524 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ผิดนัด ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน โดยไม่ต้องบอกกล่าว หลังจากนั้น3 เดือน โจทก์ติดตามเอารถคืนได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายไป 2,784บาท และโจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถในระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าว รวมเป็นเงิน 27,000 บาท โจทก์ขายทอดตลาดรถได้เงิน 423,000 บาท
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยตามปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาก่อนว่า เงื่อนไขในข้อ 10 แห่งเอกสารหมายจ.6 นั้นมีผลบังคับมากน้อยประการใด ตามเงื่อนไขดังกล่าวระบุให้จำเลยผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาและโจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดแล้วได้ราคาไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อจำเลยยังต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ดังนี้เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหาย อันโจทก์จะพึงได้รับไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา อันถือเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ดังนั้นการที่โจทก์จะเรียกร้องเอาเงินจำนวนที่ขาดหลังจากนำรถออกขายทอดตลาดแล้วจนเต็มราคาตามสัญญาเช่าซื้อโดยที่จำเลยเองมิได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อแล้วเช่นนี้จึงเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่สูงเกินส่วนอันจำเลยจะต้องรับผิด ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาลดลงเป็นจำนวนตามที่เห็นสมควรได้ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งโจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นเงินทั้งสิ้น63,000 บาท นั้น ปัญหานี้ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับค่าเสียหายอันเนื่องจากสภาพรถที่เสื่อมโทรมไปนั้นจากการนำสืบของโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมายจ.1 มีเพียงรอยขึดเล็กน้อยยางอะไหล่ระเบิด กับกระจกมองด้านหลังหายไป ซึ่งศาลอุทธรณ์เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท นั้น เห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วและเมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่จำเลยยังครอบครองรถหลังจากเลิกสัญญาแล้วเป็นเงิน 27,000 บาท ตามคำวินิจฉัยอันเป็นยุติของศาลชั้นต้น กับค่าใช้จ่ายของโจทก์ในการติดตามเอารถคืน และค่าเช่าซื้อที่จำเลยยังค้างชำระอีก 1 งวด รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์สมควรได้รับทั้งสิ้น 58,201 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยมิได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้’.

Share