คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งที่ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานก่อนและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละสองบาทห้าสิบสตางค์ โดยให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย แต่ผู้ร้องก็มีคำขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยไม่ชำระเงิน ให้ผู้ร้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยโดยการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองด้วย
เมื่อศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ร้อง และผู้ร้องนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้อันเป็นการบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ กรณีจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 733 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนนั้น เมื่อสัญญาจำนองระหว่างผู้ร้องกับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวน จึงไม่มีหนี้อันจะเป็นมูลให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 945,800 บาท ตามคำขอของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่โฉนดเลขที่ 14641, 22716, 10640, 28666, 29251, 18423, 22724, 28882, 29252 และ 31447 ตำบลบ้านใหม่ (ศีศะเชือก) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ตามคำร้องได้อย่างเจ้าหนี้สามัญ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง หากไม่ชำระให้บังคับเอาจากที่ดินของจำเลยอันเป็นทรัพย์จำนองรวม 21 แปลง ผู้ร้องนำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาดใช้หนี้แก่ผู้ร้องแล้ว แต่ได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดในคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์ตามคำร้องหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน โดยให้ถือหนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินด้วย การฟ้องคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1646/2540 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้ร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินก่อน โดยผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาทของทุนทรัพย์อย่างคดีฟ้องเรียกหนี้สามัญ มิใช่อัตราหนึ่งบาทต่อทุกหนึ่งร้อยบาทอย่างคดีฟ้องขอให้บังคับจำนอง หนี้กู้ยืมเงินที่ฟ้องเป็นหนี้ประธาน ส่วนจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ ผู้ร้องมิได้ประสงค์จะฟ้องบังคับจำนองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่อีกนั้น เห็นว่า แม้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1646/2540 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้ร้องฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ประธานก่อนและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละสองบาทห้าสิบสตางค์ก็ตาม แต่ผู้ร้องมีคำขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยไม่ชำระเงิน ให้ผู้ร้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยรวม 21 แปลง โดยการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีเอาจากที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องบังคับจำนองด้วย ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ร้อง และผู้ร้องนำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้อันเป็นการบังคับจำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ กรณีจึงอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 733 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนนั้น เมื่อสัญญาจำนองระหว่างผู้ร้องกับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวน จึงไม่มีหนี้อันจะเป็นมูลให้ผู้ร้องมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share