คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เพิ่งจะยื่นสำเนาคำสั่งของโจทก์ เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อ ที่มีผลใช้บังคับในวันทำสัญญากู้มาท้ายอุทธรณ์ เพื่อแสดงว่าโจทก์ได้ออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปแล้ว โดยโจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ทั้งที่เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองและรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์เพิ่งจะนำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
การที่ศาลจะพิจารณาและพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่าฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลในข้อ 1 ระบุว่า จำเลยทั้งสามตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 631,778.32 บาท แก่โจทก์ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับจำนวนเงินที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชำระให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินที่คิดคำนวณจากดอกเบี้ยที่เกินอัตรารวมอยู่ด้วย ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินอัตรานี้เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงไม่อาจพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่โจทก์ยื่นคำแถลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 631,778.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 432,354.84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56367 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 155,950.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56367 ตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จึงสามารถเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี การเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะเป็นสถาบันการเงินการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดด้วย แม้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าร้อยละ 19 ต่อปี ก็ตาม แต่โจทก์ต้องมีการประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไว้ด้วย โจทก์จึงจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราดังกล่าวได้ ในข้อนี้นายอุทัยเจ้าหน้าที่ดูแลสินเชื่อและติดตามหนี้สินเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ แต่นายอุทัยไม่ได้เบิกความว่าในวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น โจทก์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้าทั่วไปไว้ในอัตราร้อยละเท่าใด ทั้งประกาศของโจทก์ก็เป็นประกาศอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2543 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินอยู่ด้วย โจทก์เพิ่งจะยื่นสำเนาคำสั่งของโจทก์ ฉบับที่ 88/2536 เรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในการอำนวยสินเชื่อ ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2536 มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแสดงว่าโจทก์ได้ออกประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปแล้ว โดยโจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ทั้งที่เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองและรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์เพิ่งจะนำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังที่ฟ้อง แต่นายอุทัยพยานโจทก์เบิกความประกอบประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากลูกค้าตามประกาศนี้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์นั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามประกาศฉบับดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ประกาศฉบับดังกล่าวแล้วเห็นว่าดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อชฎาทองที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ หาใช่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปไม่ ทั้งประกาศอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเป็น 2 อัตรา คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไป และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในผ่อนชำระ สำหรับลูกค้าทั่วไปโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ส่วนลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ โดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแต่อย่างใดนั้น จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2544 คดีระหว่าง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายสิทธิโชค กับพวก จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546 คดีระหว่าง ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายมงคล กับพวก จำเลย การที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี ไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี นั้น หาได้มีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่มีผลสมบูรณ์ขึ้นไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ยื่นคำแถลงลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 อ้างว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษาตามยอมนั้น เห็นว่า การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาและพิพากษาตามยอมได้นั้น ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความว่าฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ หากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์เสนอต่อศาลในข้อ. 1 ระบุว่า จำเลยทั้งสามตกลงร่วมกันชำระเงินจำนวน 631,778.32 บาท แก่โจทก์ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับจำนวนเงินที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชำระให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้มีจำนวนเงินที่คิดคำนวณจากดอกเบี้ยที่เกินอัตรารวมอยู่ด้วย ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินอัตรานี้เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่โจทก์ยื่นคำแถลงได้
พิพากษายืน และให้ยกคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share