แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกแทงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างแรงที่อวัยวะสำคัญของร่างกายที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีโจทก์ร่วมที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2
ส่วนโจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 297, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางฉอ้อน มารดาของนายเอกพล ผู้ตาย นายสุเทพ และนายชนะชัย ผู้เสียหายทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตเฉพาะความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อร่างกาย) โดยให้เรียกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 1,460,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1
โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตเป็นเงิน 350,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้อง ขอเรียกค่าเสียหายทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตเป็นเงิน 400,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 3
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้องโจทก์ร่วมทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 295, 371, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุก 15 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานร่วมทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 26 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 กับให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 676,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันละเมิด (วันที่ 28 มีนาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 27,500 บาท และโจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 10,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 จำคุก 10 ปี รวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 35 ปี และปรับ 100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามเบิกความสมเหตุผลและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบปฏิเสธลอยๆ ไม่มีพยานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามได้ เชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าวเบิกความตามที่รู้เห็นจริง ฟังได้ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 เห็นหน้าจำเลยจำได้และพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 และผู้ตายเดินออกจากร้านอาหารมาถึงที่เกิดเหตุ ได้ยินเสียงเรียกโจทก์ร่วมที่ 3 ว่า “ไอ้เสื้อขาว มึงหันมานี่” เมื่อหันมาได้เห็นจำเลยกับชายเสื้อแดงและพวก 4 ถึง 5 คนยืนอยู่ แล้วชายเสื้อแดงถือมีดเข้ามาแทงโจทก์ร่วมที่ 3 ถูกที่แขนและจำเลยเข้ามา แทงซ้ำแต่ถูกโจทก์ร่วมที่ 3 ใช้เท้าถีบจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 หันหลังวิ่งหนี จำเลยใช้มีดฟันที่หลัง ส่วนชายเสื้อแดงใช้มีดแทงผู้ตายและจำเลยใช้มีดแทงผู้ตาย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 เข้ามาช่วยก็ถูกจำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ชายโครงด้านขวาตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 นั้น ย่อมบ่งชี้ได้ว่าจำเลยกับพวกสมคบกันมาดักทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 และผู้ตาย การกระทำของจำเลยกับพวกที่ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 และผู้ตายจึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดหาใช่เป็นเรื่องต่างคนต่างทำดังที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยกับพวกแทงผู้ตายที่ลำตัวด้านซ้าย 2 แผล ที่หน้าท้องทะลุเข้าช่องท้องทะลุลำไส้ ทะลุเข้าไตซ้ายและเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ตามรายงานตรวจศพท้ายฟ้อง และแทงโจทก์ร่วมที่ 2 ที่บริเวณหลังใต้สะบักขวายาว 2 เซนติเมตร ลึกทะลุเข้าช่องอกทะลุช่องปอดขวาทำให้มีลมรั่วในช่องปอด ตามรายงานผลตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกแทงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างแรงที่อวัยวะสำคัญของร่างกายที่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส และนายดนัย แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โจทก์ร่วมที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่าผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ข้อที่จำเลยฎีกาว่า มีดที่จำเลยใช้แทงผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นมีดเดือยไก่ที่มีขนาดกว้างประมาณ 3 ถึง 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 นิ้ว ไม่รวมด้ามมีดไม่ใช่มีดขนาดใหญ่นั้น เห็นว่า จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายในส่วนที่เป็นอวัยวะสำคัญและแทงอย่างแรงจนทะลุช่องท้องผู้ตายและช่องอกโจทก์ร่วมที่ 2 จนถูกอวัยวะสำคัญภายในร่างกายย่อมแสดงว่าจำเลยและพวกมีเจตนาฆ่าหาใช่เพียงมีเจตนาทำร้ายดังที่จำเลยฎีกา และแม้ก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยกับพวกของผู้ตายและโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ทะเลาะวิวาทกันหรือมีเรื่องโกรธแค้นกัน แต่กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาจึงต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น หาใช่จำต้องมีความอาฆาตกันมาก่อนดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นข้อปลีกย่อยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไปไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สำหรับโจทก์ร่วมที่ 3 ได้ความว่าพวกของจำเลยใช้มีดแทงถูกที่แขนซ้ายของโจทก์ร่วมที่ 3 ก่อน จำเลยถือมีดเข้ามาจะแทงโจทก์ร่วมที่ 3 อีก แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ใช้เท้าถีบจำเลยไว้ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 คิดวิ่งหนี จำเลยเข้ามาใช้มีดฟันที่บริเวณด้านหลัง แสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวย ไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกาย ทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบักขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ และบาดแผลที่ถูกพวกของจำเลยแทงที่ต้นแขนขวาด้านหลังยาว 3 เซนติเมตร ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อก็ไม่ใช่อวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายไม่ทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้เช่นกัน ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นความผิดที่ร่วมอยู่ในการกระทำที่โจทก์ฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อนี้มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามเพียงใด เห็นว่า การเรียกค่าเสียหายของโจทก์ร่วมทั้งสามมีสาเหตุมาจากจำเลยได้กระทำละเมิดทำร้ายผู้ตาย โจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย เช่นนี้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เมื่อจำเลยทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาย่อมเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ และเรียกค่าปลงศพ กับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพจากจำเลยได้ อันเป็นสิทธิที่โจทก์ร่วมที่ 1 สามารถเรียกได้ตามกฎหมาย หาใช่ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงว่าหากผู้ตายยังมีชีวิตอยู่จะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ 1 จริงดังที่จำเลยฎีกาไม่ ซึ่งการเรียกค่าเสียหายของโจทก์ร่วมทั้งสามมีมูลคดีแยกต่างหากจากกัน การคิดทุนทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ร่วมแต่ละคนจึงแยกกันได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยจึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 มาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบ และที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 มาไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฎีกาของจำเลยในส่วนคดีแพ่งสำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในส่วนคดีแพ่งเกี่ยวกับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3