คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ปรับ 5,500 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ริบศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่โจทก์ฎีกาว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงสมควรริบนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 18, 150 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 150(3)พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานช่วยด้วยประการใด ๆให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 500 บาท ฐานขับรถจักรยานยนต์บรรทุกคนเกินจำนวน ปรับ 500 บาท รวมจำคุก6 เดือน และปรับ 11,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก3 เดือน และปรับ 5,500 บาท โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ส่วนคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่สมควรริบคำขอส่วนนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย3 เดือน ปรับ 5,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี รถจักรยานยนต์ของกลางไม่ริบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่โจทก์ฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงสมควรริบนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share