แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่ยังไม่เคยได้เข้าครอบครอง เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้วและไม่ยอมออกไปยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางหลงมา นามซะเกาะ ผู้เสียหายได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหนองเต็ง-จักราช ในท้องที่ตำบลศรีละกออำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ 14 ไร่ และผู้เสียหายได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปใช้รถไถนาไถที่ดินแปลงดังกล่าว อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายครอบครองทำประโยชน์อยู่แต่บางส่วนเป็นเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83 ริบของกลางและบวกโทษจำเลยที่ 1 ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 470/2533 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2) จำคุกคนละ 1 ปี ริบของกลาง บวกโทษจำเลยที่ 1 ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 470/2533 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ โจทก์มีนางหลงมา นามซะเกาะผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับสิทธิจากทางราชการให้เข้าทำกินในที่พิพาทเมื่อประมาณเดือน 12 ปี 2533 ได้จ้างรถไถของจ่าสิบตำรวจดุลย์ให้ไถที่ทั้งแปลง หลังจากไถที่แล้ว 2 เดือนเศษได้กลับไปดูอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534เวลา 3 โมง เช้า เห็นจำเลยทั้งสองบุกรุกที่พิพาทโดยจำเลยที่ 1กำลังใช้รถไถไถที่ดินอยู่ ส่วนจำเลยที่ 2 เก็บเศษไม้ แต่โจทก์ไม่ได้นำจ่าสิบตำรวจดุลย์มาเบิกความรับรองถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่ นายสวาท แนมพลกรัง ป่าไม้อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา พยานโจทก์เบิกความว่าทางราชการจัดให้ผู้เสียหายมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทเมื่อวันที่9 ตุลาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้เสียหายได้รับสิทธิจากทางราชการให้เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทได้ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2533 แต่นายบุญเลิศ ทินกระโทก กำนัลตำบลศรีละกอ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า นับแต่ได้สิทธิแล้วพยานไม่เคยเห็นผู้เสียหายเข้ามาทำกินในที่พิพาท คงเห็นแต่จำเลยทั้งสองและบุตรเข้าทำกินในที่พิพาท นายประเสริฐ อาจล้อม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ผู้เสียหายเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทไม่ได้เพราะ จำเลยทั้งสองเข้าทำอยู่ก่อนแล้ว ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าไถที่ดินในวันที่จะเอารถไถเข้ามาไถที่พิพาทนายสว่าง ทุ่นกระโทก พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่าจำเลยทั้งสองเข้าทำกินในที่ดิน (ที่ต่อมาทางราชการจัดสรรให้เป็นของพยานและผู้เสียหาย) ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งยังไม่มีประกาศของทางราชการที่จะจัดสรรที่ดินป่าสงวนให้เป็นที่ทำกินนางปราณี นอนกระโทก พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าไม่เคยเห็นผู้เสียหายมาทำกินในที่ดินที่ได้รับสิทธิเลย ดังนี้พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท และจากพยานโจทก์ที่นำสืบดังกล่าวยังได้ความเจือสมพยานจำเลยทั้งสองด้วยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมาก่อนที่ผู้เสียหายจะได้รับสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท และจำเลยทั้งสองยังครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทต่อมาจนกระทั่งถูกจับกุมเป็นคดีนี้ เห็นได้ว่า ผู้เสียหายเพียงแต่ได้รับการจัดสรรจากทางราชการให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท แต่ยังไม่เคยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์แต่อย่างใด เพราะจำเลยทั้งสองครอบครองอยู่ก่อนและไม่ยอมออกไป การที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้วและไม่ยอมออกไปจากที่พิพาทเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษายืน