คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7254/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3และที่ 4 ให้โจทก์ โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลยที่ 3และที่ 4 คนละ 187,500 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 สามารถแยกกันได้แต่ละจำนวนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะยื่นฎีการวมกันมา ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาก็ต้องแยกกันตามจำนวนที่แต่ละคนต้องรับผิด เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินคนละสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ทั้งสองวางเงินมัดจำไว้เป็นจำนวน 20,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับไว้แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่อย่างใดไม่ดังนั้น ความยินยอมหรือการมอบอำนาจของจำเลยที่ 3 และที่ 4หาจำต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4ไม่เช่นกัน กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 798

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดโฉนดเลขที่ 4233 พร้อมบ้านเลขที่ 217/1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความยินยอมและหรือรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงจะขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองราคา 750,000 บาทจำเลยที่ 1 รับเงินมัดจำจากโจทก์ทั้งสองแล้วจำนวน 20,000 บาทส่วนเงินที่เหลือโจทก์ทั้งสองตกลงจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพร้อมบ้าน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยมาโดยตลอด เมื่อถึงกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านขายแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4233พร้อมบ้านเลขที่ 217/1 และให้จำเลยทั้งสี่รับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ทั้งสองจำนวน 730,000 บาท หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยได้รับความยินยอมหรือรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ตกลงจะขายที่ดินและบ้านตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ได้ตกลงจะขายที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ได้ให้โจทก์ทั้งสองเช่าที่ดินและบ้านดังกล่าวมีกำหนด 1 ปีค่าเช่าปีละ 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยให้ความยินยอมและหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจะขายที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ การให้ความยินยอมและหรือมอบอำนาจไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือขัดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4233 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 167,500 บาท และชำระให้จำเลยที่ 2 จำนวน 187,500 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ถ้าในวันโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ให้ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซื้อส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 3และที่ 4
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4233 พร้อมบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย โดยในวันโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่จำเลยที่ 3และที่ 4 คนละ 187,500 บาท หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 และถ้าโจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินให้ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจซื้อส่วนดังกล่าวอีกต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้โจทก์ โดยให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 187,500 บาท จำเลยที่ 3และที่ 4 ฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 สามารถแยกกันได้แต่ละจำนวนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะยื่นฎีการวมกันมา ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาก็ต้องแยกกันตามจำนวนที่แต่ละคนต้องรับผิด เมื่อทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินคนละสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา ที่จำเลยที่ 3และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยยินยอมหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ตกลงยินยอมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4ให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 3และที่ 4 มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า การที่จำเลยที่ 3และที่ 4 ให้ความยินยอมหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นความยินยอมหรือการมอบอำนาจดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ทั้งสองวางเงินมัดจำไว้เป็นจำนวน 20,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับไว้แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ความยินยอมหรือการมอบอำนาจของจำเลยที่ 3 และที่ 4 หาจำต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่เช่นกัน กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798
พิพากษายืน

Share