คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมปรึกษาหารือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตลอดว่าจะทำอย่างไรต่อไปไม่ใช่เพียงแต่ร่วมทางไปโดยจำยอม แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ลงมือทำร้ายและฆ่าผู้ตายทั้งสอง แต่เป็นผู้ควบคุมตัวผู้ตายที่ 2 อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังและขับรถอีกคันหนึ่งติดตามไปตลอดทาง อันมีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้การกระทำความผิดทั้งหมดสำเร็จผล จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายที่ 2 และฆ่าผู้ตายที่ 2 โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) แล้วคงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษความผิดฐานอื่นมาลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อีกและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ข้อนี้นั้นไม่ถูกต้อง ขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91 ที่บัญญัติว่า สำหรับความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ซึ่งจะกระทำไม่ได้เฉพาะโทษประหารชีวิตที่โดยสภาพแล้วไม่อาจกำหนดโทษอื่นได้อีกเท่านั้น กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วก็คงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตลอดชีวิตตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 199, 217, 289, 310, 340, 340 ตรี และริบของกลาง ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงิน 8,800 บาท กับพระเลี่ยมทองคำแก่ทายาทของผู้ตายที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 30,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนางรองซึ่งรับคำฟ้องมีคำสั่งให้โอนคดีไปพิจารณาที่ศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 217, 289 (4) (5), 310 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานร่วมกันฆ่า ผู้ตายที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ก็ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมาลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อีก ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ริบจอบเสียม กระสุนปืนลูกปรายและหมอนรองกระสุนปืนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์มีนางเศียร เป็นพยานเบิกความว่า เห็นเหตุการณ์ช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปจอดรถหน้าร้านขายของชำของนางเศียรแล้วลงจากรถไปซื้อเครื่องดื่มในร้าน จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถออกไปแต่ไปจอดที่ริมถนนใกล้ศาลาที่พักสามแยกเข้าสวนสัตว์นครราชสีมาและจอดอยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง สอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในชั้นสอบสวนที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รอผู้ตายที่ 1 อยู่ที่ศาลาที่พักดังกล่าวนานประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ตายที่ 1 ขับรถเลยไป จำเลยที่ 1 จึงขับรถตามไปประมาณ 1 กิโลเมตรก็ทันกันที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 122 เยื้องค่ายทหารอันเป็นที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ตีผู้ตายที่ 1 จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 เมื่อพาผู้ตายทั้งสองไปที่ป่าเต็งรังบ้านมาบพิมานแล้ว ไม่ได้ยิงตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุที่ริมถนนซึ่งอยู่ห่างร้านของนางเศียรเพียง 1 กิโลเมตร เพราะหากเป็นเช่นนั้น นางเศียรหรือบุคคลอื่นในละแวกนั้นต้องได้ยินเสียงปืน กลับไม่มีเลย ยิ่งมีเหตุผลให้เชื่อว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ตีผู้ตายที่ 1 แล้ว ผู้ตายที่ 1 ยังไม่ถึงแก่ความตาย เพราะหากถึงแก่ความตายแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงซ้ำ ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะหลอกลวงให้ผู้ตายที่ 1 ไปพบโดยตั้งใจจะฆ่าผู้ตายที่ 1 ตั้งแต่แรกหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 นำตัวผู้ตายที่ 1 ซึ่งยังไม่ถึงแก่ความตายไปยังป่าเต็งรังบ้านมาบพิมานแล้วใช้อาวุธปืนยิงซ้ำที่ศีรษะย่อมเป็นการฆ่าผู้ตายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองและจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ในทุกข้อหาตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การรับสารภาพต่อศาลว่าร่วมกระทำความผิดตามฟ้องทุกข้อหานั้น ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายทั้งสองกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านี้ ศาลต้องฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพให้เป็นที่พอใจก่อนว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังจำเลยที่ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธ เพียงแต่มีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริงตามคำรับก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะกระทำความผิด ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ฎีกาว่าอยู่ร่วมในเหตุการณ์ แต่มิได้สมคบคิดเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ลงมือกระทำผิดโดยกะทันหันและจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยที่ 3 จึงเกรงกลัวจำยอมกระทำตามที่จำเลยที่ 1 สั่งนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาสมคบคิดเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดหรือไม่ ศาลวินิจฉัยได้จากพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยที่ 3 ที่พิจารณาจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้ท่อนเหล็กตีผู้ตายที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 วิ่งจากรถจำเลยที่ 1 ไปคุมตัวผู้ตายที่ 2 ไว้โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่ง เมื่อขับรถออกไปจากที่เกิดเหตุที่แรกพักหนึ่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จอดรถทั้งสองคันลงไปปรึกษากันว่าจะไปที่ใดดี แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มิใช่เพียงแต่กระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในป่าเต็งรังบ้านมาบพิมานซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำตัวผู้ตายที่ 1 ไปฆ่าและเผาศพ จำเลยที่ 3 ก็มีหน้าที่คุมตัวผู้ตายที่ 2 ไว้อันมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ช่วยกันหาวัสดุเชื้อเพลิงมีกล่องกระดาษพลาสติกและยางรถยนต์ไปกองไว้เพื่อจุดไฟเผาศพผู้ตายที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 3 ก็เป็นคนแนะนำให้นำรถผู้ตายที่ 1 ไปทิ้งลงในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนห้วยยาง ไม่ใช่เพียงแต่ติดตามร่วมทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น การนำร่างผู้ตายที่ 1 ที่หมดสติเข้าไปในป่าเต็งรังบ้านมาบพิมาน จำเลยที่ 3 ย่อมคาดคิดได้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องนำผู้ตายที่ 1 ไปฆ่า เมื่อฆ่าผู้ตายที่ 1 แล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้ตายที่ 2 รอดชีวิตไปเป็นพยาน หากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ร่วมคบคิดกระทำความผิดด้วยเมื่อจำเลยที่ 3 ไปขับรถของจำเลยที่ 1 ตามลำพังตามรถผู้ตายที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 3 น่าจะอาศัยโอกาสนั้นขับรถหลบหนีปลีกตัวออกไปเสียจากเหตุการณ์ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่น่าจะยอมให้จำเลยที่ 3 ร่วมทางไปรู้เห็นเป็นพยานในการกระทำความผิดของตนหากไม่รู้กันอยู่ว่าจะร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จำเลยที่ 3 ยังเบิกความรับว่า เป็นตัวต้นคิดชวนจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไปช่วยกันย้ายกระดูกศพผู้ตายทั้งสองไปฝังในอีกสถานที่หนึ่งอีกด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังที่วินิจฉัยมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมปรึกษาหารือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตลอดว่าจะทำอย่างไรต่อไปไม่ใช่เพียงแต่ร่วมทางไปโดยจำยอม แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ลงมือทำร้ายและฆ่าผู้ตายทั้งสอง แต่เป็นผู้ควบคุมตัวผู้ตายที่ 2 อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังและขับรถอีกคันหนึ่งติดตามไปตลอดทาง อันมีการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้การกระทำความผิดทั้งหมดสำเร็จผล จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกระทำความผิดฐานร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพผู้ตายทั้งสองเพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเช่นเดียวกัน แต่มีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ถ้อยคำรับว่าจำเลยที่ 3 ชวนจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไปขุดหลุมย้ายกระดูกศพผู้ตายทั้งสองที่เหลือจากการเผาไหม้ไปฝังในหลุมที่ห่างออกไปจากที่เผาศพ แม้คำให้การดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 พ้นผิดหรือได้ประโยชน์อื่นใด จึงมีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริง โจทก์ยังมีคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 เป็นหลักฐานแสดงว่าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 พนักงานสอบสวนสอบปากคำจำเลยที่ 4 ก่อนจะจับจำเลยอื่น ๆ จำเลยที่ 4 รับขึ้นมาเองว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 3 ชวนจำเลยที่ 4 ไปขุดสมุนไพรในป่าพบรอยเผาวัสดุบางอย่าง ตอนท้ายก็รับว่าไปส่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไปขุดหลุมย้ายกระดูกศพผู้ตายทั้งสองไปฝัง อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจพบกระดูกศพผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นหลักฐานว่าผู้ตายทั้งสองถูกฆ่าและนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 แม้จำเลยที่ 4 จะอ้างว่ารออยู่ที่รถซึ่งจอดอยู่ปากทาง ไม่ได้เข้าไปในป่ากับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ด้วย แต่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะไม่อาจอ้างเหตุผลอื่นใดได้ จำเลยที่ 4 เป็นน้องร่วมบิดามารดาของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นพี่ร่วมบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมบอกเล่าเรื่องฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไว้วางใจได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 จะช่วยปิดบังไว้ การเข้าป่าหาสมุนไพรเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล หากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่รู้เรื่องการฆ่าผู้ตายทั้งสองยิ่งไม่สมเหตุสมผลที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชวนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปด้วยให้มีพยานรู้เรื่องความผิดเพิ่มขึ้นเพราะต้องย้ายกระดูกศพผู้ตายในสถานที่สองแห่งห่างจากกันย่อมยากจะปิดบังการกระทำของตนจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้เรื่องความผิดและร่วมลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพผู้ตายทั้งสองเพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดฐานนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า มีเหตุควรลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 2 โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายและลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในความผิดฐานลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพในสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 289 (5) ต้องระวางโทษสถานเดียวให้ประหารชีวิต จึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสถานเบาไปกว่านี้ได้ ส่วนความผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 นั้น เห็นว่า เป็นการกระทำต่อศพทั้งสองศพ เพื่อปิดบังความผิดอุกฉกรรจ์ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายจึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุก 1 ปี จึงเหมาะสมแก่สภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งห้า ในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายที่ 2 และฆ่าผู้ตายที่ 2 โดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) แล้วคงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษความผิดฐานอื่นมาลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อีกและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ข้อนี้นั้น ไม่ถูกต้อง ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่บัญญัติว่า สำหรับความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ซึ่งจะกระทำไม่ได้เฉพาะโทษประหารชีวิตที่โดยสภาพแล้วไม่อาจกำหนดโทษอื่นได้อีกเท่านั้น กรณีจึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วก็คงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษและเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองในเวลากลางคืนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขนั้น ไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 217, 289 (4) (5), 310 วรรคแรก, 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 217, 289 (4) (5), 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ส่วนโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share