คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5742/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าอาหารเดือนละ 600 บาท ซึ่งจ่ายเท่ากันเป็นประจำทุกเดือนนอกเหนือจากเงินเดือน ค่าอาหารจึงเป็นค่าจ้าง ส่วนค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จำเลยที่ 1 หักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานไว้ร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะหักเงินค่าบริการไว้ร้อยละ 22 เป็นสวัสดิการพนักงานก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น ค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเท่ากับเงินเดือนที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมา ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรวมเงินค่าบริการเข้ากับเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ระบุว่ามีเงินค่าบริการไว้ในคำฟ้อง เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน โจทก์ที่ 2 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 (3) (1)

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกนายชวนิช สิริสิงหล ว่าโจทก์ที่ 1 นายอภิสิทธิ์ จันทสิงห์ ว่าโจทก์ที่ 2 นายวรวิทย์ พัทธรัตน์ ว่าโจทก์ที่ 3 และเรียกบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) ว่าจำเลยที่ 1 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้วว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสามไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยไม่มีความผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินสมทบ ส่วนของนายจ้างให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชย 819,900 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 81,190 บาท (ที่ถูก 81,990 บาท) แก่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าชดเชย 12,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 12,600 บาท และคืนเงินค้ำประกันการทำงาน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 2 ชำระค่าชดเชย 276,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 27,600 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของนายจ้างแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,251,084 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 183,427 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน 102,597 บาท 10,900 บาท และ 18,995 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 901,090 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 35,200 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 248,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2541 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,251,084 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ที่ 3 จำนวน 183,427 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราร้อยละ 10 จำเลยที่ 1 หักเป็นเงินสวัสดิการพนักงานไว้ร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการจึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้จำเลยที่ 1 จะหักเงินค่าบริการไว้ร้อยละ 22 เป็นสวัสดิการพนักงานก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง นำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น ค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเท่ากับเงินเดือนที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาคือ 78,000 บาท และ 24,000 บาท ตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 2 นอกจากได้รับเงินเดือนเดือนละ 8,000 บาท ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้ว ยังปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าอาหารเดือนละ 600 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับตามคำฟ้องข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำฟ้องคำให้การว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าอาหารเดือนละ 600 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายประจำทุกเดือน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นการจ่ายค่าอาหารตามที่โจทก์ที่ 2 ได้จ่ายจริง ค่าอาหารจึงเป็นค่าจ้าง ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,600 บาท ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรวมเงินค่าบริการเข้ากับเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ระบุว่ามีเงินค่าบริการไว้ในคำฟ้องเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เห็นว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 และจำเลยทั้งสองให้การว่าได้เลิกจ้างจริงตามคำฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องคำให้การว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ให้การปฏิเสธวันที่โจทก์ทั้งสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสาม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 และเมื่อเดือนตุลาคม 2533 ตามลำดับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน โจทก์ที่ 2 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 (3) (1) ตามลำดับ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงได้รับค่าชดเชยจำนวน 468,000 บาท 8,600 บาท และ 144,000 บาท ตามลำดับ
อนึ่ง เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าโจทก์ทั้งสามได้รับจ้างเดือนละ 78,000 บาท 8,600 บาท และ 24,000 บาท ตามลำดับแล้ว สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งสามได้รับซึ่งใช้ค่าจ้างเป็นฐานจึงเปลี่ยนแปลงไปจากที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามาคนละเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 78,000 บาท 8,600 บาท และ 24,000 บาท ตามลำดับ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชย 468,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 78,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าชดเชย 8,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 8,600 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ชำระค่าชดเชย 144,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share