คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 574/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าราชการประจำซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อยู่ด้วยในขณะสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมเป็นบุคคลที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฯ ม.21 ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2500)
ในคดีร้องคัดค้านว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรขาดคุณสมบัติ ต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องคัดค้านเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งร้องขึ้นมาความต้องกันว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ พลโทประยูร ภมรมนตรี ผู้ได้รับเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ผู้หนึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประกันสังคม สังกัดกระทรวงการคลัง และมิได้ออกจากราชการเกิน ๖ เดือน ขัดต่อ พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ม.๒๑ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อมแทนพลโทประยูรเสียใหม่
ศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องแก่พลโทประยูรและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พลโทประยูรได้รับสำเนา แล้วไม่มาศาลหรือยื่นคำคัดค้านแต่ประการใด คงมีแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่ยื่นคำคัดค้านทั้งสองสำนวน
ตามคำคัดค้านรับว่า พลโทประยูรได้คะแนนเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประกันสังคม สังกัดกระทรวงการคลังจริง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒ อยู่ด้วย
ศาลจังหวัดเชียงใหม่สั่งรวมพิจารณาคดีทั้งสอง และในการไต่สวนคำร้องผู้ร้องและผู้ว่าราชการจังหวัด รับข้อเท็จจริงกันว่า พลโทประยูรเป็นข้าราชการและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ด้วย ยังมิได้ออกจากราชการในวันสมัครรับ เลือกตั้ง
ผู้ร้องแถลงขอสืบพยานข้อที่ว่า พลโทประยูรยังไม่ได้ออกจากข้าราชการ โดยเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีสิทธิเข้ามา ร้องคัดค้าน ฉะนั้น คำรับข้อเท็จจริงอาจไม่มีผล
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าไม่จำต้องสืบพยานต่อไป โดยเห็นว่าผู้ว่าราชการมีส่งได้เสียมีสิทธิเข้ามาในคดีได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) (ข) จึงได้ทำความเห็นส่งต่อศาลฎีกาว่า กรณีของพลโทประยูรต้อง ด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ ม. ๒๑ (๑) เห็นควรยกคำร้องของผู้ร้องเสีย
ศาลฎีกาพิจารณาข้อคัดค้านของผู้ร้องที่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นคู่ความแล้วเห็นว่า ตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สอบสวนและสั่งรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฉะนั้น ที่ผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งจึงเป็นโต้แย้ง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี มีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ ส่วนปัญหาที่ว่าพลโทประยูรจะอยู่ในกรณีที่ยกเว้นให้สมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ นั้น ศาลฏีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า ข้าราชการประจำซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ อยู่นั้น ตราบใดที่ยังไม่ขาดจากตำแหน่ง ข้าราชการประจำ ผู้นั้นก็ต้องเข้าลักษณะต้องห้ามตามหลักใหญ่ใน ม.๒๑ แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฯลฯ ส่วนข้อยกเว้นตาม อนุมาตรา (๑) เป็นเรื่องเมื่อกฎหมายต้องการให้ผู้มีตำแหน่งในทางราชการใดบ้างสมัครรับเลือกตั้งได้ จึงได้เอามาบัญญัติ เป็นข้อยกเว้นไว้ ฉะนั้น ตราบใดที่ผู้สมัครเป็นข้าราชการอื่นนอกจากในอนุมาตรา (๑) แล้ว ก็มีลักษณะต้องห้ามตาม ม.๒๑ อันเป็นหลักใหญ่ เพราะต้องตีความบทยกเว้นโดยเคร่งครัด เหตุนี้ศาลฎีกาจึงชี้ขาดว่าการเลือกตั้งสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรในเขตจังหวัดเชียงใหม่เฉพาะตัว พลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นไปโดยมิชอบ จึงสั่งให้มีการเลือกตั้ง ใหม่สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑ คน แทนพลโทประยูร.

Share