แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าค้อนปอนด์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เนื่องจากการลักทรัพย์สำเร็จตั้งแต่การย้ายเสาปูน ส่วนการใช้ค้อนปอนด์ทุบเสาปูนเกิดขึ้นภายหลังเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
การที่ศาลจะอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้นๆ กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดนั้นๆ ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องว่าค้อนปอนด์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการทุบเสาปูนของผู้เสียหาย ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเสาปูนของผู้เสียหายย่อมต้องอาศัยค้อนปอนด์ของกลางในการกระทำความผิด อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่ควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเสาปูนหรือใช้ราคา 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้คืน ริบรถเข็นและค้อนปอนด์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (10) วรรคสอง, 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบรถเข็นและค้อนปอนด์ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถเข็นของกลางแต่ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าค้อนปอนด์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เนื่องจากการลักทรัพย์ได้ทำการสำเร็จแล้วตั้งแต่การย้ายเสาปูน ส่วนการใช้ค้อนปอนด์ทุบเสาปูนนั้นเกิดขึ้นภายหลัง ค้อนปอนด์ของกลางมิได้เป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงเกี่ยวกับการลักทรัพย์ เป็นเพียงเพื่อความสะดวกในการทำลายทรัพย์ที่จะทำการขนย้ายและเป็นวัสดุที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ภายหลังจากที่มีการลักทรัพย์สำเร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งหากไม่มีค้อนปอนด์ของกลางก็สามารถลักทรัพย์ได้ ดังนั้น ค้อนปอนด์ของกลางจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาในข้อนี้ของจำเลยทั้งสองเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้นๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วยซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องว่า ค้อนปอนด์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการทุบเสาปูนของผู้เสียหาย ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเสาปูนของผู้เสียหายย่อมต้องอาศัยค้อนปอนด์ของกลางในการกระทำความผิด อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่ควรริบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ริบค้อนปอนด์ของกลางนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…