แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยหรือซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22(2) การที่ลูกจ้างและกรรมการของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ อ. ม. และ ส. ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย โดยบุคคลทั้งสามไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับสิ้นไปและการรับชำระหนี้ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและบุคคลทั้งสาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะต้องใช้สิทธิในการทวงถามหนี้เงินกู้ดังกล่าวจากลูกจ้างและกรรมการของจำเลยผู้กู้ยืมเงินจำนวนนั้นต่อไป ไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 119 เรียกร้องให้อ. ม. และ ส. ชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2531 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททิพยสิน จำกัด) ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านอ้างว่า จำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้นางสาวอมร โมฬีนนท์ นายมงคลสองเมือง และนายสมเกียรติ มหาวานิช ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและได้รับเงินไว้แทนจำเลยจำนวน 20,000,000 บาท ขอให้ผู้คัดค้านแจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระเงินแก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งว่า สิทธิเรียกร้องของจำเลยตามคำแถลงของผู้ร้องมิได้มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจแจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระเงินตามคำแถลงได้ ให้ยกคำแถลง
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านแจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระเงิน 20,000,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2527 ถึง 2528 จำเลยให้ลูกจ้างและกรรมการของจำเลยกู้ยืมเงินรวม 20,000,000 บาท ตามสำเนางบดุลเอกสารหมาย ร.21 ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2531 ต่อมาในปี 2534 ลูกหนี้เงินกู้ดังกล่าวชำระหนี้แก่นางสาวอมร โมฬีนนท์ นายมงคล สองเมือง และนายสมเกียรติ มหาวนิช ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยแต่บุคคลทั้งสามไม่นำเงินจำนวนนั้นมาชำระแก่กองทรัพย์สินของจำเลยผู้ร้องจึงยื่นคำแถลงต่อผู้คัดค้านขอให้แจ้งความเป็นหนังสือไปยังนางสาวอมร นายมงคล และนายสมเกียรติให้ชำระเงินแก่กองทรัพย์สินของจำเลย แต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำแถลงเพราะกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำสั่งของผู้คัดค้านชอบหรือไม่ เห็นว่าเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยหรือซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(2) การที่ลูกจ้างและกรรมการของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นางสาวอมร นายมงคล และนายสมเกียรติ โดยบุคคลทั้งสามไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 หนี้เงินกู้ยังไม่ระงับสิ้นไป และการรับชำระหนี้ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและบุคคลทั้งสามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะต้องใช้สิทธิในการทวงถามหนี้เงินกู้จำนวน 20,000,000 บาท จากลูกจ้างและกรรมการของจำเลยผู้กู้ยืมเงินจำนวนนั้นต่อไป ไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เรียกร้องให้นางสาวอมร นายมงคลและนายสมเกียรติชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้วที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน