คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 29 มิถุนายน 2535ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499ที่ใช้บังคับอยู่บัญญัติให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนแม้ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และให้ใช้ความใหม่แทนแล้วก็ตาม แต่มาตรา 18 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และแม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2538 ใช้บังคับโดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ก็มิได้ยกเลิกมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การที่ อ. หญิงมีสามีขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสอันเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1462(เดิม) ให้แก่จำเลย เป็นการกระทำที่ผูกพันสินบริคณห์ตามมาตรา 38(เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตของ ล. สามี หากกระทำโดยมิได้รับอนุญาตก็จะตกเป็นโมฆียะ อันเป็นเรื่องความสามารถไม่ใช่แบบที่กฎหมายกำหนด แม้ไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่าง อ. กับจำเลยตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางเอมกับจำเลยทั้งสองและการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างนายเลื่อนกับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 27พฤษภาคม 2539 หรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 29 มิถุนายน 2535 นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลได้ก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของคู่ความฝ่ายซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน แม้ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2499 และให้ใช้ความใหม่แทนภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วก็ตาม แต่มาตรา 18 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องนั้นบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด…” และถึงแม้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2538 ใช้บังคับโดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 88แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความใหม่แทนก็ตาม แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มิได้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 ดังนั้น กำหนดเวลาและหลักเกณฑ์ในการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ส่วนมาตรา 15แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2538 เพียงแต่บัญญัติให้ถือเอากำหนดเวลาในการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่ยาวกว่าเป็นเกณฑ์ในกรณีที่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนกับกฎหมายที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเวลาไว้ต่างกันเท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ฝ่ายซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและการส่งสำเนาเอกสารตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น….

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางเอมกับจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ดังนั้น การจัดการสินสมรสนายเลื่อนและนางเอมต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางเอมกับจำเลยทั้งสองไม่มีใบมอบอำนาจให้จัดการของนายเลื่อนเป็นการกระทำนิติกรรมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 152 เห็นว่า ขณะที่นางเอมขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสอันเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1462 (เดิม) ให้แก่จำเลยทั้งสองนั้นเป็นการกระทำที่ผูกพันสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 38 (เดิม) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นซึ่งจะกระทำได้โดยได้รับอนุญาตของนายเลื่อนสามี หากกระทำลงโดยมิได้รับอนุญาตก็จะตกเป็นโมฆียะกรณีนี้เป็นเรื่องความสามารถของนางเอมหญิงมีสามีที่จะกระทำการใดที่จะผูกพันสินบริคณห์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายเลื่อนสามี การอนุญาตของนายเลื่อนสามีให้นางเอมทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทนั้นไม่ใช่แบบที่กฎหมายกำหนด ดังที่โจทก์ฎีกา สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนางเอมกับจำเลยทั้งสองจึงไม่ตกเป็นโมฆะฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share