คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริเวณที่เกิดเหตุการจราจรคับคั่ง ประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก จำเลยควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถ ต้องหยุดรถให้กลุ่มคน เดินข้ามถนนผ่านพ้นไปก่อน การที่จำเลยกลับขับแซงรถยนต์โดยสาร ประจำทางที่จอดอยู่ขึ้นไป โดยไม่ดูทางข้างหน้าให้ปลอดภัยเสียก่อน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับชนและทับขาโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยขับรถยนต์ทับขาโจทก์ เป็นเหตุให้แพทย์ต้อง ทำการผ่าตัดขาข้างซ้ายตั้งแต่ใต้เข่าออกและใส่ขาเทียมให้โจทก์ แม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงว่าได้เสียค่ารักษาพยาบาล ไปจำนวนเท่าใด ศาลก็กำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรง แห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคแรก และแม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องจากผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดต้องระงับไป ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องสูญเสียขาและใส่ขาเทียมเพื่อสามารถ เดินและประกอบอาชีพได้เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ต้องรับผิด ในผลแห่งการละเมิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างและเพื่อการค้าของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนและทับโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ จำเลยที่ 2ไม่ได้ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความระมัดระวังไม่ได้ประมาท แต่โจทก์เองเป็นฝ่ายประมาทโดยวิ่งตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยขับโดยกะทันหันในระยะกระชั้นชิดค่าเสียหายไม่เกิน 23,000 บาท และโจทก์มิได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนราชการออกเงินค่ารักษาพยาบาลให้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-5740 อุดรธานี เฉี่ยวชนโจทก์ล้มลง ทับขาข้างซ้ายของโจทก์ โจทก์ต้องตัดขาข้างซ้ายตั้งแต่ใต้เข่าออก ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ เอกสารหมาย จ.3 คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อแรกว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 หรือไม่ บริเวณที่เกิดเหตุมีการจราจรคับคั่งประชาชนสัญจรไปมาจำนวนมาก ในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 1 ควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถ ต้องหยุดรถให้กลุ่มคนเดินข้ามถนนผ่านพ้นไปเสียก่อนแต่จำเลยที่ 1 กลับขับแซงรถยนต์โดยสารประจำทางที่จอดอยู่ขึ้นไป โดยไม่ดูทางด้านหน้าให้ปลอดภัยเสียก่อน เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับชนและทับขาโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นนี้เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายสูงเกินกว่าความเป็นจริง เห็นว่า จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุทับขาโจทก์ โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า แพทย์ทำการผ่าตัดขาข้างซ้ายตั้งแต่ใต้เข่าออกและใส่ขาเทียมให้โจทก์ ปรากฏตามใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.3 แม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงว่าได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปจำนวนเท่าใดศาลก็กำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้10,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว และแม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ผู้ถูกละเมิดที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดต้องระงับไปแต่อย่างใด ส่วนค่าใส่ขาเทียมปรากฏว่าโจทก์จะต้องใส่ไปจนตลอดชีวิต และจะต้องเปลี่ยนจนกว่าโจทก์จะโตเป็นผู้ใหญ่รวมทั้งหมด 7 ครั้ง ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 35,000 บาท นั้นพอสมควรแล้ว และในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคแรกค่าเสียหายที่โจทก์ต้องสูญเสียขาให้แพทย์ใส่ขาเทียมเพื่อสามารถเดินและประกอบอาชีพได้ย่อมเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามบทมาตราดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดได้ ส่วนจำนวนค่าเสียหายโจทก์ควรจะได้รับเท่าใดนั้น ศาลวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”
พิพากษายืน

Share