แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำเตือนเรื่องขาดงานที่นายจ้างเคยตักเตือนลูกจ้างก่อนการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานครั้งเกิดเหตุอันเป็นมูลเลิกจ้างนานเกือบ 4 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควรและสิ้นผลแล้ว.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในเรื่องขาดงานมาแล้ว 1 ครั้ง จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ขาดงานเพียงวันเดียว จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘…ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ขาดงานในวันที่ 7 มิถุนายน 2529 เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้จะมิใช่เป็นความผิดในกรณีร้ายแรงแต่โจทก์ก็เคยฝ่าฝืนระเบียบเช่นนี้มาก่อนและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น…ได้ความว่าโจทก์ได้ยื่นใบลากิจเมื่อวันที่7 มิถุนายน 2529 โดยไม่ได้ยื่นใบลาก่อนล่วงหน้า 1 วันตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงไม่อนุญาตและถือว่าโจทก์ขาดงาน เห็นว่าการที่โจทก์ลากิจโดยไม่ได้ยื่นใบลาล่วงหน้าก่อนให้ถูกต้องนั้น จะถือว่าเป็นการขาดงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 6.3 หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เกี่ยวกับการขาดงานในครั้งก่อนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2525… ซึ่งเป็นเวลาห่างกันกับครั้งนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี เมื่อได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ของจำเลยครั้งหลังนี้ประกอบกับระยะเวลาของคำเตือนดังกล่าวมาแล้ว เห็นว่าคำเตือนของจำเลยเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินสมควรและสิ้นผลแล้ว จึงไม่เป็นเหตุที่จะนำมาเป็นข้อพิจารณาสำหรับการเลิกจ้างในการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ ในครั้งหลังนี้ได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2528 ระหว่างนายนะรบ สิมุธิ โจทก์ บริษัท เอ. เอส. เอ. อินดัสทรี จำกัด จำเลย กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน’.