คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225-1235/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดเพื่อขอให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยขอให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ต่อมาโจทก์จำเลยทำบันทึกตกลงว่าโจทก์จะขอรับเพียงเงินค่าจ้างที่ตกค้าง และจะไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใดอีกนั้น บันทึกข้อตกลงนี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลบังคับเพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าล่วงเวลาเท่านั้น ส่วนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันไม่อาจตกลงแก้ไขให้ผิดแผกแตกต่างเป็นประการอื่นได้ ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยได้นั้น จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดโดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ยอมจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายทิ้งงานและไม่ได้กลับเข้าทำงานตามปกติ โจทก์ปฏิบัติผิดข้อบังคับของจำเลยการลาหยุดและการลาออก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ต่อมาหลังจากที่โจทก์ได้หยุดงานแล้วต่างได้ร้องเรียนต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรีและได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยจำเลยตกลงจ่ายเงินจำนวน 67,566.38บาท และโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่ประสงค์เรียกร้องใด ๆ จากจำเลยอีกดังนั้นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับค่าล่วงเวลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยจึงเป็นอันสิ้นสุดตามสัญญาประนีประนอมยอมความขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยที่สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างตามผลงานของโจทก์ที่ 8 เป็นอันระงับ แต่ไม่มีผลบังคับกับค่าชดเชยซึ่งเกิดขึ้นโดยผลของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด
จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยที่ทำกันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีผลให้การเรียกร้องของแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่ได้แสดงในสัญญาว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด และตรงกับเจตนาของคู่กรณี จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัดราชบุรี ตามข้อร้องทุกข์ของลูกจ้างเพื่อขอให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7ถึงที่ 10 แผ่นที่ 12 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 18 และที่ 29 ขอให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2529 โจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยได้ทำข้อตกลงตามบันทึก เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 40 โดยมีข้อความสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจะขอรับเพียงเงินค่าจ้างที่ตกค้างอยู่ รวมกับลูกจ้างที่มิได้ฟ้องคดีนี้อีก 2 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,867 บาท82 สตางค์ และจะไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใดอีก ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกข้อตกลงนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และมีผลบังคับต่อไปว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าล่วงเวลาเท่านั้น ส่วนค่าชดเชยนั้น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง เป็นบทคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้างเนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่านายจ้าง หากยินยอมให้มีการตกลงเกี่ยวกับค่าชดเชยให้มีผลเป็นว่าลูกจ้างไม่ขอรับค่าชดเชยก็ดี หรือได้รับค่าชดเชยมีจำนวนน้อยกว่าที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ก็ดี ฐานะทางเศรษฐกิจอันเสียเปรียบของลูกจ้างก็อาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างจำต้องยินยอมตามข้อเสนออันไม่เป็นธรรมได้ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชย จึงมีผลเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันไม่อาจตกลงแก้ไขให้ผิดแผกแตกต่างเป็นประการอื่นได้ ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยที่กำหนดว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใดอีก ซึ่งจำเลยถือว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยได้นั้น จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share