แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การเลิกจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 121 และมาตรา 122 ต้องเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดจำนวนลูกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทดแทนการใช้แรงงานของลูกจ้าง คดีนี้จำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงโครงสร้างงานฝ่ายสินเชื่อโดยนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สมาใช้ทำงานปรับปรุงหน่วยงานและบริการ ระบบโปรแกรมคาร์สเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในงานฝ่ายสินเชื่อธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ ใช้งานด้านวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อ ทำรายงานสินเชื่อและใช้แทนแรงงานคนได้ เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกโดยได้มีการติดตั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สเพื่อทดลองใช้บางจุด เนื่องจากจำเลยที่ 1 คิดว่าอาจได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ต่อมาประเทศอินเดียได้รับการพิจารณาเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้นำระบบโปรมแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สมาใช้ แต่จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงจอภาพคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์ส ทำให้จำเลยที่ 1 ปรับลดพนักงานสินเชื่อและยุบเลิกฝ่ายสินเชื่อในเดือนมีนาคม 2543 แล้วย้าย ก. หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์และเลิกจ้างโจทก์ในเดือนธันวาคม 2543 โจทก์จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรเลขานุการ ไม่มีความรู้และประสบการณ์งานด้านการตลาดและสินเชื่อโดยตรง แม้โจทก์จะทำงานในฝ่ายสินเชื่อแต่โจทก์มิได้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อที่ต้องรับผิดชอบในส่วนงานสินเชื่อโดยตรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นเพียงเลขานุการบริหารของ ก. หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเลขานุการของ ก. เนื่องจาก ก. ได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มิใช่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรภายในฝ่ายสินเชื่อ อีกทั้งไม่ใช่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนการทำงานของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าชดเชยพิเศษจำนวน 659,148 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินเพิ่มจำนวน 2,669,549.40 บาท และนับต่อจากวันฟ้องทุก 7 วัน ในอัตราร้อยละ 15 ของต้นเงิน 659,148 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นสาขาหนึ่งของธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอจี ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี เดิมจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่า ธนาคารยูโรเปี่ยน เอเซี่ยน แบงก์ ต่อมาปี 2539 เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารดอยซ์ แบงก์ (เอเชีย) และครั้งสุดท้ายเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารดอยซ์ แบงก์ เอจี สาขากรุงเทพ ประกอบกิจการธนาคารโดยได้จดทะเบียนประกอบการค้าที่กระทรวงพาณิชย์และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจกิจการนิเทศธนกิจและการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารจำเลยที่ 1 มีอำนาจว่าจ้างลูกจ้างและบอกเลิกการจ้าง แต่งตั้งและถอดถอนด้วยดุลพินิจของตนเองตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยที่ 1 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2521 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเลขานุการผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสินเชื่อ มีหน้าที่จัดทำเอกสาร รับโทรศัพท์นัดหมายลูกค้าและงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป จำเลยที่ 1 ยังได้แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจระดับบีตามสำเนาเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 62,776 บาท จำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 ของเดือน จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 อ้างเหตุเพื่อปรับปรุงโครงสร้างแผนกสินเชื่อและแผนกอื่นๆ ตามนโยบายสำนักงานใหญ่ให้มีผลนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไป โดยจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย และจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 26 เดือน ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินช่วยเหลือพิเศษดังกล่าวหักเงินกู้สวัสดิการที่โจทก์ขอกู้ไปจากจำเลยที่ 1 เพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้าน จำเลยที่ 1 ยังได้จ่ายเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของโจทก์ และเงินสมทบของจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่งให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 ในการเลิกจ้างพนักงาน จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่พนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้าง โดยคิดคำนวณอัตรา 1.25 คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน คูณด้วยเงินเดือน ฝ่ายสินเชื่อมีหน้าที่กลั่นกรองความเสี่ยงการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า อนุมัติสินเชื่อ ควบคุมดูแลหนี้เสีย และทำธุรกรรมกับลูกค้า จำเลยที่ 1 ได้มีการจัดทำประเมินผลงานของพนักงาน ซึ่งเดิมจำเลยที่ 1 จะทำการประเมินผลงานของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ต่อมาได้ให้พนักงานประเมินตัวเองด้วย จำเลยที่ 1 ได้ทำการประเมินผลงานตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.6 ถึง ล.15 จำเลยที่ 1 ได้เริ่มปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กรประมาณปลายปี 2541 ถึงต้นปี 2542 ทำให้มีการปรับลดพนักงานฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายอื่น มีการแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนสินเชื่อ ส่วนเร่งรัดหนี้สิน ส่วนหลักทรัพย์และส่วนสินเชื่อธุรการ จำเลยที่ 1 ได้เริ่มปรับปรุงโครงสร้างประมาณปลายปี 2541 ถึงต้นปี 2542 ในเดือนมกราคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายสินเชื่อ โดยคงเหลือแต่ส่วนสินเชื่อและส่วนเร่งรัดหนี้สิน สำหรับส่วนหลักทรัพย์และส่วนสินเชื่อธุรการได้ย้ายไปขึ้นกับอีกหน่วยงานหนึ่ง มีการปรับลดพนักงานในฝ่ายสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 30 คน และฝ่ายสินเชื่อถูกยุบไปในเดือนมีนาคม 2542 เนื่องจากสำนักงานใหญ่มีนโยบายที่จะยกเลิกฝ่ายสินเชื่อในประเทศไทย เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนั้นทำให้จำเลยที่ 1 มีนโยบายคัดเลือกลูกค้ารายใหญ่ โดยในส่วนลูกค้าในระดับกลางและระดับเล็ก จำเลยที่ 1 พยายามลดจำนวนลงทำให้งานทางด้านฝ่ายสินเชื่อลดลง ฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ลดลงเช่นเดียวกันจึงมีนโยบายยุบฝ่ายสินเชื่อและนำงานของฝ่ายสินเชื่อไปไว้ยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการพิจารณาสินเชื่อซึ่งมี 3 แห่ง คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินเดีย ซึ่งในส่วนงานสินเชื่อของประเทศไทยได้นำไปไว้ที่เมืองดูไบ ประเทศอินเดีย นายเดอร์เกสได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเลขานุการกับคนขับรถของนายเดอร์เกส จำเลยที่ 1 ยุบฝ่ายสินเชื่อแล้ว ยังคงมีพนักงานอยู่ในฝ่ายสินเชื่อประมาณ 2 ถึง 3 คน ขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้างฝ่ายสินเชื่อได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว ตามผังองค์กรของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2543 ยังมีนายไบรอัน ดี โรซาริโอ อยู่ในฝ่ายสินเชื่อมีหน้าที่ประสานงานระหว่างจำเลยที่ 1 กับฝ่ายสินเชื่อที่ประเทศอินเดีย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงานหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 และมาตรา 122 หรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดจำนวนลูกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทดแทนการใช้แรงงานของลูกจ้าง คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงโครงสร้างงานฝ่ายสินเชื่อโดยนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คาร์ส (KARS) มาใช้ทำงานปรับปรุงหน่วยงานและบริการ ระบบโปรแกรมคาร์สเป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในงานฝ่ายสินเชื่อธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะใช้งานด้านวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อ ทำรายงานสินเชื่อ และใช้แทนแรงงานคนได้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีความสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก โดยได้มีการติดตั้งระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สเพื่อทดลองใช้บางจุดเนื่องจากจำเลยที่ 1 คิดว่าอาจได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ต่อมาประเทศอินเดียได้รับการพิจารณาเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์สินเชื่อ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้นำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สมาใช้ แต่จำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงจอภาพคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบโปรมแกรมคอมพิวเตอร์คาร์สทำให้จำเลยที่ 1 ปรับลดพนักงานสินเชื่อประมาณ 30 คน และยุบเลิกฝ่ายสินเชื่อในเดือนมีนาคม 2543 แล้วย้ายนายเดอร์เกสหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์ และเลิกจ้างโจทก์ในเดือนธันวาคม 2543 โจทก์จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรเลขานุการไม่มีความรู้และประสบการณ์งานด้านการตลาดและสินเชื่อโดยตรง แม้โจทก์จะทำงานในฝ่ายสินเชื่อ แต่โจทก์มิได้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อที่ต้องรับผิดชอบในส่วนสินเชื่อโดยตรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นเพียงเลขานุการบริหารของนายเดอร์เกสหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อตามใบประเมินผลงานโจทก์เอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.14 ได้ระบุงานหลักและความรับผิดชอบโจทก์ว่า มีหน้าที่ทำงานเลขานุการ พิมพ์งานหรือจดหมายติดต่อ เก็บเอกสาร แปลเอกสาร จัดนัดหมาย พิมพ์งานโดยใช้คอมพิวเตอร์และงานพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเลขานุการของนายเดอร์เกส เนื่องจากนายเดอร์เกสได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรภายในฝ่ายสินเชื่อ อีกทั้งไม่ใช่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนการทำงานของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน