คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ในวันครบกำหนดอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์พร้อมยื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่าเป็นความผิดของทนายความที่ไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นควรอนุญาตให้ตามขอ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย กรณีของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ทนายจำเลยไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลยเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงเกินกำหนดระยะเวลาขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยก็ไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างการพิจารณา นางสมนึก ศรีไกรรัตน์ มารดาของพลทหารจีระศักดิ์ โนนขุนทด ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ลงโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ในวันครบกำหนดอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2547 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์แล้ว จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์พร้อมยื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่าเป็นความผิดของทนายความที่ไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นควรอนุญาตให้ตามขอ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย กรณีของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งจำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ทนายจำเลยไม่ได้ติดตามดูสำนวนให้จำเลยเป็นความประมาทเลินเล่อของทนายจำเลย ไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงเกินกำหนดระยะเวลาขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยและที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไม่ชอบเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยกับยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และยกฎีกาจำเลย ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share