คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5685/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้เงินมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริงแม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลังที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแล้ว ก็ไม่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม หนังสือสัญญาทั้งสองฉบับจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 525,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542) ต้องไม่เกิน 125,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ดังกล่าวแทนจนครบ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน มีปัญหาว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 ต้องการกู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท แต่ไม่มีหลักทรัพย์จึงให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่ดินและบ้านเป็นผู้กู้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันยังไม่ได้กรอกข้อความแต่จำเลยที่ 2 ได้รับเงินกู้จากโจทก์จำนวน 400,000 บาทแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 กรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และหนังสือสัญญาค้ำประกันกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โจทก์ในจำนวน 400,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กู้โจทก์ อันเป็นการกรอกข้อความที่มีมูลหนี้กันจริง แม้จะเป็นการกรอกข้อความภายหลังที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างก็ตาม ก็ไม่ทำให้หนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม หนังสือสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่านอกจากโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินแล้ว โจทก์ยังให้นายเล็งญาติจำเลยที่ 2 นายสมบูรณ์และนางทิมลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินโดยไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ยึดถือไว้ หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ต้องกรอกข้อความในสัญญากู้เงินฉบับละ 100,000 บาท ครบจำนวน 400,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ แต่โจทก์กลับกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และยังกรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินของนายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม แล้วนำมาฟ้องต่อศาลชั้นต้น จึงเกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์นั้น เห็นว่า หากฟังได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ไม่มีผลให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นความรับผิดแต่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แม้โจทก์จะให้นายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินตามที่จำเลยทั้งสองฎีกากล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่นายเล็ง นายสมบูรณ์และนางทิม ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share