คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 99,941,078.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 99,247,704.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 99,247,704.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มิถุนายน 2558) ต้องไม่เกิน 693,374.24 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตเหล็ก จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ นางสาวปัญจพักตร์เป็นพนักงานของจำเลย สาขาอโศก ตำแหน่งรองผู้อำนวยการและหัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 และวันที่ 29 กันยายน 2557 นางสาวปัญจพักตร์ออกหนังสือค้ำประกันในนามของจำเลยให้แก่บริษัทมานา เอ็ม แอนด์ จี จำกัด 2 ฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินค้าจากโจทก์ บริษัทมานา เอ็ม แอนด์ จี จำกัด สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์รวม 3 ครั้ง โดยได้เครดิตครั้งละ 90 วัน ครั้งแรก ใช้หนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้ามูลค่าห้าสิบล้านบาทเศษ ครั้งที่ 2 ใช้หนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้ามูลค่าสี่สิบเจ็ดล้านบาทเศษ และครั้งที่ 3 ใช้หนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าสินค้ามูลค่าห้าสิบล้านบาทเศษเนื่องจากมีการชำระค่าสินค้าในครั้งแรกครบถ้วนแล้ว และค้างชำระค่าสินค้าในการซื้อขายครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 รวมเป็นเงิน 99,247,704.27 บาท ต่อมาปรากฏว่าหนังสือค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม มีการดำเนินคดีอาญาแก่นางสาวปัญจพักตร์กับพวก ศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
ปัญหาที่เห็นสมควรวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนของนางสาวปัญจพักตร์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ ข้อ 2 บรรยายว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2557 นางสาวปัญจพักตร์ ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) สาขาอโศก และหัวหน้าผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน (สาขาอโศก) ได้จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยได้บรรยายการกระทำของนางสาวปัญจพักตร์ว่า เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันของจำเลยเพื่อค้ำประกันการซื้อขายเหล็กเส้นของบริษัทมานา เอ็ม แอนด์ จี จำกัด ที่สั่งซื้อจากโจทก์ และในข้อ 4 ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า การกระทำของนางสาวปัญจพักตร์ ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยดังกล่าวเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและในทางการที่จ้างของจำเลย ซึ่งเป็นการบรรยายให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวปัญจพักตร์เกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไร และมีการกระทำอย่างไรที่โจทก์ได้เห็นว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ในการฟ้องคดีแพ่งนั้น โจทก์บรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้น ศาลมีอำนาจหน้าที่นำหลักกฎหมายมาปรับข้อเท็จจริงแห่งคดีว่า ข้อเท็จจริงนั้นต้องด้วยบทบัญญัติกฎหมายลักษณะใดและมีผลทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของนางสาวปัญจพักตร์ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์มาพอเข้าใจได้แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบในเรื่องนี้ได้เพราะเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่า การกระทำดังกล่าวของนางสาวปัญจพักตร์จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยหรือไม่ประการใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนของนางสาวปัญจพักตร์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าไม่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความเป็นตัวแทนของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า นางสาวปัญจพักตร์กระทำการในทางการที่จ้างและในฐานะตัวแทนของจำเลยหรือไม่ และจำเลยต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ มาตรา 426 กำหนดหลักความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการกระทำของลูกจ้างที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น หลักการดังกล่าวให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลมตามมาตรา 427 นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติเฉพาะ ที่กำหนดความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกไว้ในมาตรา 820 ถึงมาตรา 823 ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าตัวแทนคนนั้นกระทำการเป็นตัวแทนของตน ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจก็ดี ย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพัง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตัวแทนทำการโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริตเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้ตัวการต้องผูกพันรับผิดต่อบุคคลภายนอก 2 กรณี กรณีแรก ถ้าตัวแทนทำการภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการต้องผูกพันรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมอ และกรณีที่สอง ถ้าตัวแทนทำการเกินอำนาจ แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าตัวแทนคนนั้นกระทำการเป็นตัวแทนของตนเช่นเดียวกันกับกรณีแรก แต่ทั้งสองกรณีกฎหมายก็กำหนดทางเยียวยาความเสียหายของตัวการไว้โดยตัวการอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากตัวแทนนั้นได้ในภายหลังจากที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ส่วนถ้าเป็นกรณีตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันตัวการ กล่าวคือตัวการอาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ทันทีโดยไม่จำต้องคำนึงถึงความสุจริตของบุคคลภายนอก เมื่อปรากฏหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นางสาวปัญจพักตร์เป็นลูกจ้างของจำเลย สังกัดสำนักงานสาขาอโศก ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน (รองผู้อำนวยการ) และวันที่ 1 กันยายน 2557 จำเลยมอบอำนาจให้นางสาวปัญจพักตร์กระทำการแทนจำเลยโดยมีอำนาจลงลายมือชื่อคนเดียวออกหนังสือค้ำประกันวงเงินไม่เกินห้าพันบาท และร่วมลงลายมือชื่อกับผู้รับมอบอำนาจอื่นรวมสองคน ออกหนังสือค้ำประกันวงเงินเกินสามสิบล้านบาท แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท เห็นได้ว่าแม้เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสาร แต่ก็เป็นของจำเลย ซึ่งจำเลยใช้อ้างต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาญาที่จำเลยร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางสาวปัญจพักตร์ มีทนายความของจำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในคราวนำส่งต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เมื่อพิจารณาถึงสภาพ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของเอกสารดังกล่าวน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ทั้งนายชะโลม ทนายความของจำเลย และนายภาคภูมิ ผู้ช่วยประธานสายปฏิบัติการรักษาการฝ่ายพิธีการสินเชื่อ ประจำสำนักงานใหญ่ของจำเลย เป็นพยานจำเลยเบิกความตอบการถามค้านของฝ่ายโจทก์ถึงความมีอยู่จริงของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ที่จำเลยให้การว่า นางสาวปัญจพักตร์ไม่มีอำนาจออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลย ก็เป็นการกล่าวอ้างที่มีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความประกอบใบพรรณนาหน้าที่งาน ผังโครงสร้างฝ่ายพิธีการสินเชื่อ และบันทึกความเข้าใจกระบวนการทำงานในการปฏิบัติงาน เพื่อแสดงว่าโดยตำแหน่งของนางสาวปัญจพักตร์แล้วไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือค้ำประกัน แต่เอกสารที่จำเลยอ้างนี้เป็นเพียงระเบียบกฎเกณฑ์ภายในของจำเลย ทั้งพยานจำเลยยังยอมรับเสียเองว่าจำเลยมีหนังสือมอบอำนาจให้นางสาวปัญจพักตร์ออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ดังกล่าวข้างต้น พยานหลักฐานของจำเลยเท่าที่นำสืบมาโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนนอกจากนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมอบอำนาจให้นางสาวปัญจพักตร์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไขในเอกสารและการออกหนังสือค้ำประกันเพื่อประกันการชำระเงินค่าสินค้าเป็นธุรกรรมทางการเงินอย่างหนึ่งในกิจการของจำเลย หากนางสาวปัญจพักตร์ออกหนังสือค้ำประกันไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตามเงื่อนไขในเอกสาร ย่อมเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยและในฐานะตัวแทนของจำเลย แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวปัญจพักตร์ออกหนังสือค้ำประกันเกินวงเงินที่ได้รับมอบอำนาจซึ่งต้องลงลายมือชื่อร่วมกันสองคนจึงจะสมบูรณ์ผูกพันจำเลย อันเป็นกรณีที่นางสาวปัญจพักตร์ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ได้ความว่านางสาวปัญจพักตร์เป็นลูกจ้างของจำเลยและมีตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง ทำงานประจำอยู่ ณ สำนักงานสาขาอโศกของจำเลย กระทำการออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาดังกล่าวโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย และเมื่อพนักงานของโจทก์ไปตรวจสอบที่สาขาของจำเลยนางสาวปัญจพักตร์ก็ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยจริง โจทก์จึงยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของบริษัทมานา เอ็ม แอนด์ จี จำกัด ทั้งหนังสือของจำเลยที่แจ้งเลิกสัญญาจ้างต่อนางสาวปัญจพักตร์ จำเลยตรวจสอบกรณีนางสาวปัญจพักตร์ออกหนังสือค้ำประกันแก่ลูกค้าของจำเลยเกินอำนาจของตัวแทนเช่นเดียวกับการออกหนังสือค้ำประกันและออกในวันเดียวกัน ระบุไว้ชัดว่า การกระทำของนางสาวปัญจพักตร์เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่หรือโอกาสในการทำงาน พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยปล่อยปละละเลยไม่มีระบบตรวจสอบควบคุมภายในที่ดีเพียงพอ ทั้งที่จำเลยเป็นสถาบันการเงินอันเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชน การที่จะเกณฑ์ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและลูกค้าทั่วไปใช้ความระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยจากระบบบริหารจัดการของจำเลยเองย่อมเกินวิสัยของลูกค้าผู้รับบริการ ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันโดยนางสาวปัญจพักตร์เป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน การที่โจทก์ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยไม่ถามไปที่สำนักงานใหญ่ของจำเลย หรือถามพนักงานคนอื่นนอกจากนางสาวปัญจพักตร์ก็ดี การไม่ตรวจสอบว่าผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือค้ำประกันเป็นพนักงานของจำเลยหรือไม่ก็ดี การไม่พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทมานา เอ็ม แอนด์ จี จำกัด ในเรื่องทุนจดทะเบียน งบดุลบัญชีการเงินประจำปี รวมถึงข้อพิจารณาอื่นๆ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วก็ดี ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายขาดความระมัดระวังหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จะขายสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าว ต่อเมื่อนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาวางค้ำประกันการสั่งซื้อและชำระเงิน ดังนั้น หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ความเสียหายของโจทก์เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของนางสาวปัญจพักตร์ ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ระหว่างโจทก์และจำเลยผู้สุจริตด้วยกัน จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ปล่อยปละละเลยอันเป็นการประมาทเลินเล่อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่านางสาวปัญจพักตร์กระทำการในทางการที่จ้างและเป็นตัวแทนของจำเลยตามมาตรา 425 และมาตรา 427 ประกอบมาตรา 820 และมาตรา 822 กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่านางสาวปัญจพักตร์ตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจที่จะไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการดังที่จำเลยอ้างตามมาตรา 823 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นและฎีกาของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share