แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จ. มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ได้ติดต่อผ่าน ว. นายหน้าขายประกันชีวิตของบริษัทจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตราด โดย ว. เป็นผู้กรอกข้อความลงในใบคำขอเอาประกันชีวิตให้ จ. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอเอาประกันภัย แล้วส่งเอกสารนั้นไปให้จำเลยซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พิจารณารับคำขอเอาประกันชีวิตและออกกรมธรรม์ให้ ดังนี้ การเริ่มต้นทำสัญญาประกันชีวิตจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดตราด กรณีถือได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดตราดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดตราด ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 นางสาวจริยา พานิชการ ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยแบบสะสมทรัพย์ 21 ปี ในวงเงิน 200,000 บาท โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2540 นางสาวจริยา พานิชการ ได้ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเนื้องอกในสมอง โจทก์ขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแต่จำเลยปฏิเสธบอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่านางสาวจริยามีร่างกายไม่ปกติ จำเลยต้องรับผิดชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนเมษายน 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 23 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 23 เดือน รวมเป็นดอกเบี้ย 28,750 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 228,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า มูลคดีนี้มิได้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 7 เมษายน 2542) ให้ไม่เกิน 28,750 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยที่คู่ความมิได้ฎีกาและแก้ฎีกาโต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 นางสาวจริยา พานิชการ ทำสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 21 ปีกับจำเลย โดยติดต่อผ่านนางสาววิลาวัลย์ นาวาเจริญ นายหน้าหาประกันชีวิตของจำเลยที่จังหวัดตราด โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. 3 ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2540 นางสาวจริยาถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเนื้องอกในสมอง โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนผ่านตัวแทนจำเลยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2540 ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2541 จำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่านางสาวจริยามิได้แถลงข้อความจริงว่า มีความบกพร่องหรือผิดปกติทางร่างกายมีสุขภาพไม่สมบูรณ์มาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ตามเอกสารหมาย จ. 8
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นางสาววิลาวัลย์ นาวาเจริญ เป็นเพียงนายหน้าขายประกันชีวิต ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นางสาววิลาวัลย์มีหน้าที่ชี้ชวนกันแนะนำรายละเอียดและผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่ลูกค้า แล้วรวบรวมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ไปยังจำเลยที่กรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาและรับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตเกิดขึ้นเมื่อจำเลยสนองรับประกันชีวิต ณ สำนักงานจำเลยที่กรุงเทพมหานคร มูลคดีนี้จึงมิได้เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะที่นางสาวจริยา พานิชการ ทำคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยนั้น นางสาวจริยามีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 75 – 77 ถนนตัดใหม่ ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งนางสาวจริยาก็ได้ติดต่อผ่านนางสาววิลาวัลย์นายหน้าขายประกันชีวิตของจำเลย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตราด โดยนางสาววิลาวัลย์เป็นผู้กรอกข้อความลงในใบคำขอเอาประกันชีวิตเอกสารหมาย จ. 2 และให้นางสาวจริยาลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวในฐานะผู้ขอเอาประกันภัย แล้วส่งเอกสารนั้นไปให้จำเลยซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พิจารณารับคำขอเอาประกันชีวิตและออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ ดังนี้ การเริ่มต้นทำสัญญาประกันชีวิตจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดตราด กรณีถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดตราดอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดตราด) ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.