แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๒
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐ นางสาวรสนา โตสิตระกูล โจทก์ ยื่นฟ้อง พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ที่ ๑ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๙๔๗/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครในคราวเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ โจทก์ได้รับคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ ๔ จากจำนวนวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร ๑๘ คน ด้วยคะแนนเสียง ๑๑๘,๓๓๒ คะแนน จำเลยที่ ๑ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการประกาศผลการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่จำเลยที่ ๑ และกรรมการการเลือกตั้งมิได้ประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าวแก่โจทก์
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีหนังสือเชิญโจทก์ไปให้ถ้อยคำและแจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ว่า โจทก์ได้แนะนำตัวและหาเสียงเลือกตั้งด้วยการระบุข้อความในเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ตอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบข้อกำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวหา เพราะจำเลยทั้งสองได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้ว และคณะอนุกรรมการได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ ว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิด ตามสำเนาคำวินิจฉัยคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและปัญหาหรือข้อโต้แย้ง (คณะที่ ๕) ที่ ๑๕๒/๒๕๔๙ การกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวข้างต้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับค่าตอบแทนการเป็นสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๕๒๑,๖๕๐ บาท และค่าเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๐๒๑,๖๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกประการ แม้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยยกคำร้องเรียนแล้วก็ตาม แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ยังต้องเสนอสำนวนดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยอีกครั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ ซึ่งเหตุที่ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของโจทก์ เนื่องจากยังต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ก่อน แต่จำเลยที่ ๑ มีเหตุต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เสียก่อน จึงไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้กระทำการตามหน้าที่โดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ และได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีโดยมุ่งประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ และคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือตามรูปแบบขั้นตอน หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐ และตามวันเวลาที่โจทก์ระบุในคำฟ้องกำหนดให้จำเลยที่ ๑ เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐดังกล่าว จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ (๘) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ซึ่งในการเลือกตั้งนั้นให้หมายความรวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วยตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับคะแนนเสียงประชามติชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ ๔ จากจำนวนวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น ๑๘ คน แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของโจทก์ ทั้งที่จำเลยทั้งสองได้รับคำวินิจฉัยจากคณะอนุกรรมการที่จำเลยทั้งสองตั้งขึ้นว่า การกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบข้อกำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ ย่อมไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะต้องทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีหนังสือเชิญโจทก์ไปให้ถ้อยคำและแจ้งข้อกล่าวหาอีก เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จึงเป็นการที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ในเชิงโครงสร้าง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล แต่การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลย่อมเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ทำนองเดียวกันกับการที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลใช้อำนาจออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อคำนึงถึงลักษณะของอำนาจที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้กระทำการในกรณีเช่นนี้แล้ว ต้องถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล หรือคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ หรือใช้อำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นกระทำการดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) หรือ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วแต่กรณี แต่ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยตรง ออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมกระทำการในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยตรง ออกกฎ คำสั่งหรือมีมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล หรือคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ หรือใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กระทำการดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เนื่องจากอำนาจในการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๑๔๕ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ดังนั้น การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยตรง ออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติ ซึ่งมีผลกระทบต่อบุคคล คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมกระทำในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยตรงออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล หรือคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกกฎ คำสั่ง หรือมีมติใด ๆ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครในคราวเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ และได้รับคะแนนเสียงชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ ๔ จากจำนวนวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร ๑๘ คน แต่จำเลยที่ ๑ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการประกาศผลการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มิได้ประกาศผลการเลือกตั้งแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองแจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ว่า โจทก์ได้แนะนำตัวและหาเสียงเลือกตั้งฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบข้อกำหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๘ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิด เพราะคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่จำเลยทั้งสองตั้งขึ้นได้มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกประการ แม้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยยกคำร้องเรียนแล้วก็ตาม แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ยังต้องเสนอสำนวนดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ก่อน แต่จำเลยที่ ๑ มีเหตุต้องลาออกเสียก่อน จึงไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้กระทำการตามหน้าที่โดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบและได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เห็นว่า มาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือ จากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด และคดีพิพาทที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับเอกชนหรือระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยกันหากเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญกระทำการต่าง ๆ หรือเนื่องมาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครได้คะแนนเสียงอยู่ในเกณฑ์ได้รับการเลือกตั้ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง และได้มีหนังสือเชิญโจทก์ไปให้ถ้อยคำและแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิด เพราะคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่จำเลยทั้งสองตั้งขึ้นได้มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับเลือกตั้ง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองให้การว่า แม้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและปัญหาหรือข้อโต้แย้งได้วินิจฉัยยกคำร้องเรียนแล้วก็ตาม แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ยังต้องเสนอสำนวนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวน ซึ่งต้องวินิจฉัยประกอบถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์หลังจากได้รับแจ้งข้อกล่าวหาเสียก่อน กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยชี้ขาดที่จะเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการรับรองหรือไม่รับรองผลการเลือกตั้ง ดังนั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวรสนา โตสิตระกูล โจทก์ พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ที่ ๑ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๗