แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ นายนภดล หรือภาวิต บุญชละ โจทก์ยื่นฟ้อง นางสาววงศ์จันฑา หรือกัญญาวัชร หรือเจริญรักษ์ ขยันดี ที่ ๑ นางสมทรง พระเทพ ที่ ๒ นายทะเบียนขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๓ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็น คดีหมายเลขดำที่ ๒๒/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มือสอง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ จากจำเลยที่ ๑ คันหมายเลขทะเบียน กข ๖๓๑๙ กำแพงเพชรราคา๑,๕๐๕,๐๐๐ บาท กับคันหมายเลขทะเบียน กค ๓๘๖ สุพรรณบุรีราคา ๑,๔๒๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ โจทก์ได้ตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถกับหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์ของรถแล้วเห็นว่าถูกต้องตรงกันจึงตกลงรับซื้อไว้และโจทก์ขายรถยนต์คันแรกให้นางพรรณิภา อุตตมชัย ในราคา ๑,๗๕๐,๐๐๐ บาท โดยทำการโอนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๙ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงแจ้งโจทก์ว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ประกาศยกเลิกแล้วเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๘ และทำการยึดรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวไป โจทก์จึงคืนเงินค่ารถยนต์ให้แก่นางพรรณิภาผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ในสังกัดจำเลยที่ ๔ ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ ทั้งสองคันไปโดยไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์คืนเป็นเงิน ๒,๙๒๕,๐๐๐ บาท และเสียชื่อเสียงต้องปิดกิจการได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑๗,๐๗๕,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์พิพาททั้งสองมาจากนายกฤษ์ชัยวงศ์ศิริวรรณ ไปขายให้โจทก์โดยหวังค่านายหน้า ก่อนที่โจทก์จะตกลงซื้อได้ตรวจสอบสภาพรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถแล้วว่าถูกต้อง ทั้งยังนำรถพิพาททั้งสองคันดังกล่าวไปตรวจสภาพและจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแจ้งว่าถูกต้อง โจทก์พอใจจึงรับซื้อไว้ จำเลยที่ ๑ มิได้ มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานสังกัดจำเลยที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานจำเลยที่ ๓ ก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะจดทะเบียนรถยนต์พิพาทได้ตรวจสอบใบคู่มือ จดทะเบียนรถยนต์ บันทึกย้ายจากจังหวัดต้นทาง และหลักฐานประจำตัวรถเห็นว่าถูกต้อง จึงออกหมายเลขทะเบียนรถเพื่อให้ใช้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ ๒มิได้ปลอมเอกสารราชการ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน โจทก์ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันด้วยความประมาทเลินเล่อ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจการพิจารณาของ ศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่อ้างเหตุละเมิดว่าจำเลยที่ ๑ นำรถยนต์พิพาททั้งสองคันขายให้โจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ ๔ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๓ กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือกระทำการปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ต่อมา จำเลยที่๓ ยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์พิพาททั้งสองคัน เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำในหน้าที่ของนายทะเบียนในการ จดแจ้งทะเบียนรถยนต์ตามปกติทั่วไปของการปฏิบัติหน้าที่มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมิใช่คดีพิพาทในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ อันจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก จำเลยทั้งสี่อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดโดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งได้กระกระทำการแทนจำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ได้ปลอมเอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคัน หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์และโอนย้ายไปหลายจังหวัดแล้วจำเลยที่ ๑ ได้นำรถยนต์ทั้งสองคันขายให้โจทก์โดยโจทก์เชื่อตามทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวว่าถูกต้องจึงรับซื้อรถทั้งสองคันดังกล่าวไว้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งทำการแทนจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าได้อาศัยโอกาสที่ตนได้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดในการตรวจสอบและออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมหรือประมาทเลินเล่อออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ทำให้โจทก์เชื่อว่าทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวถูกต้องและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ย่อมมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ แต่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๔ ได้รับความเสียหาย และโดยที่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓สังกัดอยู่ ย่อมมีหน้าที่ต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๗/๒๕๔๕ ๑๔/๒๕๔๖ ๒๒/๒๕๔๖ ๒/๒๕๔๗ ๑๐/๒๕๔๗ และ๕๙/๒๕๔๗ สำหรับคดีของจำเลยที่ ๑ แม้จะเป็นการกระทำละเมิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ก็ตามแต่โดยที่จำเลยที่ ๑ เป็นเอกชน คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่คดีปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจซื้อ ขายแลกเปลี่ยนรถยนต์มือสอง เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ จากจำเลยที่ ๑ คันหมายเลขทะเบียน กข ๖๓๑๙ กำแพงเพชรกับคันหมายเลขทะเบียน กค ๓๘๖ สุพรรณบุรี ตามลำดับ โดยตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถกับหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์ของรถแล้วเห็นว่าถูกต้องตรงกันจึงตกลงรับซื้อไว้และได้โอนขายรถยนต์คันแรกให้แก่นางพรรณิภาแล้ว ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงแจ้งโจทก์ว่าใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว จำเลยที่ ๓ประกาศยกเลิกแล้วเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๘ และทำการยึดรถยนต์ทั้งสองคัน ดังกล่าวไป โจทก์จึงคืนเงินค่ารถยนต์ให้แก่นางพรรณิภาผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ในสังกัดจำเลยที่ ๔ ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเสียชื่อเสียงต้องปิดกิจการ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือ แทนกันชำระเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์พิพาททั้งสองมาจากนายกฤษ์ชัยไปขายให้โจทก์โดยหวังค่านายหน้า ก่อนที่โจทก์จะตกลงซื้อได้ตรวจสอบสภาพรถและใบคู่มือจดทะเบียนรถแล้วว่าถูกต้อง ทั้งยังนำรถพิพาททั้งสองคันดังกล่าวไปตรวจสภาพและจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแจ้งว่าถูกต้อง โจทก์พอใจ จึงรับซื้อไว้ จำเลยที่ ๑มิได้มีเจตนาหลอกลวงโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานสังกัดจำเลยที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานจำเลยที่ ๓ ก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะจดทะเบียนรถยนต์พิพาทได้ตรวจสอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ บันทึกย้ายจากจังหวัดต้นทาง และหลักฐานประจำตัวรถเห็นว่าถูกต้อง จึงออกหมายเลขทะเบียนรถเพื่อให้ใช้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ ๒ มิได้ปลอมเอกสารราชการ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ค่าเสียหายสูงเกินส่วน โจทก์ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันด้วยความประมาทเลินเล่อ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์ที่มีการปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไปหลอกลวงขายให้โจทก์ ซึ่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนและทั้งสองศาล เห็นพ้องกันว่า อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แม้โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ในสังกัดจำเลยที่ ๔ ทำการโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันที่โจทก์รับซื้อมาจากจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะถูกจำเลยที่ ๓ ประกาศยกเลิกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันและถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแม่ปิงยึดรถยนต์ทั้งสองคัน ดังกล่าวไป และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจนต้องปิดกิจการ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งทำการแทนจำเลยที่๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยโอกาสที่ตนได้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนขนส่งจังหวัดในการตรวจสอบและออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมหรือประมาทเลินเล่อออกใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ทำให้โจทก์เชื่อว่าทะเบียนรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวถูกต้องและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๔ ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองต้องรับผิดในผลละเมิดที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของตนได้กระทำลง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และเป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการขายรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกันเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายนภดล หรือภาวิต บุญชละ โจทก์ นางสาววงศ์จันฑา หรือกัญญาวัชร หรือเจริญรักษ์ ขยันดี ที่ ๑ นางสมทรง พระเทพ ที่ ๒ นายทะเบียนขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๓ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๒