แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ บริษัทศรีไทยคลาสสิคโฮม จำกัด โจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่ ๑ นางงามมาศ เกษมเศรษฐ์ ที่ ๒ บริษัทสถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๕๑/๒๕๕ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ.๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสำนักงานของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นหัวหน้าหน่วยงานเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ จำเลยที่ ๑ผู้อำนวยการสำนักงานของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ตกลงเช่าพื้นที่ของอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ถนนวิทยุแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นที่ทำการของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบและควบคุมงานดูแลรับผิดชอบงานด้านออกแบบและควบคุมงานตกแต่งภายในตลอดทั้งจัดหาผู้รับจ้างเหมางานระบบในส่วนต่าง ๆ ในระบบเทิร์นคีย์ ว่าจ้างให้โจทก์รับเหมางานตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวก (ส่วนสำนักงาน) ภายในอาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ชั้น ๔๗ ดังกล่าว เมื่อโจทก์ดำเนินการ แล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ติดตามทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำนวน ๑๕,๒๐๙,๘๓๓.๗๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน๑๔,๘๐๘,๑๘๗.๗๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ แต่เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ไม่ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ตกลงรับจำเลยที่ ๒ เข้าทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ จำเลยที่ ๒ ตกลงเช่าอาคารซีอาร์ซีเพื่อใช้เป็นสำนักงานของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ และจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๓ เข้าดำเนินการตกแต่งอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ โดยจำเลยที่ ๓ นำโจทก์เข้าร่วมทำงานด้วย และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ควบคุมและตรวจรับงานที่โจทก์ได้ดำเนินการทุกครั้งจนกระทั่งงานที่รับจ้างแล้วเสร็จ จำเลยที่ ๓ ได้ส่งมอบงานให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยยินยอมให้โจทก์เข้าทำการตกแต่งอาคารดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ นำโจทก์เข้าร่วมทำงานเป็นความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เอง และจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ตกลงเลือกอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ เป็นสำนักงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ได้เสนองานตกแต่งเข้ามาแต่อยู่ในระหว่างการพิจารณาการจ้างและยังไม่สามารถทำสัญญาจ้างได้ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับเหมาตกแต่งภายในอาคารดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ไปว่าจ้างโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ตกลงกับโจทก์เอง ส่วนการวางเงินประกันความเสียหายในระหว่างการทำงานของจำเลยที่ ๓ต่อเจ้าของตึกเป็นเพียงการประกันเบื้องต้นและจัดทำแผน รูปแบบรายละเอียดเพื่อเสนอต่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เท่านั้น ไม่ได้เป็นการส่งมอบพื้นที่หรือเป็นการตกลงว่าจ้างเพราะการว่าจ้างต้องดำเนินการตามรูปแบบสัญญาจ้างอย่างชัดเจนและเป็นไปตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๓ สำหรับ ใบเสนอราคาเป็นการที่โจทก์จัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้รู้เห็นหรือรับทราบ แต่อย่างใดและในช่วงระหว่างการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จส่งมอบงานเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ เป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้อยู่ในอาคารตึกที่เช่าแต่ไปจัดสัมมนานักเรียนในต่างจังหวัดจึงไม่ทราบการทำงานของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ เพิ่งทราบในภายหลังว่าโจทก์ตกแต่งอาคารไปแล้วโดยปราศจากความยินยอมรู้เห็นจากจำเลยที่ ๑และที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดสำหรับค่าจ้างตามฟ้องต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ ทุกประการจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์เป็นผู้รับเหมาตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกภายในอาคาร จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เชิญจำเลยที่ ๓เข้าเสนองานออกแบบสำนักงานที่ทำการของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ ๓ ได้รับแจ้งว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานดังกล่าว จึงเข้าทำงานออกแบบล่วงหน้าก่อนการทำสัญญา เนื่องจากเป็นงานเร่งด่วนมีเวลาจำกัดที่ต้องทำให้แล้วเสร็จตามกำหนดการเปิดใช้ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘จำเลยที่ ๓ รับทำงานให้เฉพาะการออกแบบและควบคุมงานเท่านั้น บริษัทที่ร่วมงานกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้แนะนำโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และ ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ โดยจำเลยที่ ๒ มีหนังสือให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาตกแต่งที่พิพาท จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างไม่ใช่ผู้ว่าจ้าง ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอความเห็นมายังจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเกี่ยวกับการคิดราคาและเรียกเก็บเงิน ค่าก่อสร้าง ตกแต่งอาคารพิพาท การที่จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เช่นเดียวกับโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่๒ รับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยที่มาตรา ๖ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เป็นองค์การการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์หลากหลาย สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสถึงความรู้ในสาขาต่าง ๆเพื่อสะสมความรู้และพัฒนาภูมิปัญญาของตน ส่งเสริมสนับสนุนให้มีศูนย์บริการวิทยาการความรู้ในรูปแบบที่หลากหลายในด้านต่าง ๆ ฯลฯ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกส่วนสำนักงานอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ ถนนวิทยุกรุงเทพมหานคร ของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษแห่งชาติ แม้จะเป็นส่วนสำนักงาน แต่ก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๖ ข้างต้นอันเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐในการส่งเสริมการศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ของผู้มีความสามารถพิเศษส่งเสริมการพัฒนาความคิดของเด็กและเยาวชนเพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ เมื่อสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญา ฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นสัญญาที่มีลักษณะให้จัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๘/๒๕๔๘ และ ๑๒/๒๕๔๘
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างเหมางานตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวก (ส่วนสำนักงาน) ภายในอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ อันเป็นสัญญาพิพาทตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ ๓ กับโจทก์สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใด สัญญาพิพาทจึงมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาดังกล่าว จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับเอกชนอันมีลักษณะเป็นข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ จำเลยที่ ๑ และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ จำเลยที่ ๒ ตกลงเช่าพื้นที่ของอาคารซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นที่ทำการของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มอบหมายให้บริษัทสถาปนิกหนึ่งร้อยสิบจำกัด จำเลยที่ ๓ รับผิดชอบงานด้านออกแบบและควบคุมงานตกแต่งภายในและจัดหาผู้รับจ้างเหมางานระบบในส่วนต่าง ๆ ในระบบเทิร์นคีย์ ว่าจ้างให้โจทก์รับเหมางานตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวก (ส่วนสำนักงาน) ภายในอาคารชั้นดังกล่าว โจทก์ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ โจทก์ติดตามทวงถาม แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ แต่เป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยที่ ๓ เข้าดำเนินการตกแต่งอาคารชั้นดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๓ นำโจทก์เข้าร่วมทำงาน และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ควบคุมและตรวจรับงานที่โจทก์ดำเนินการทุกครั้งจนกระทั่งงานที่รับจ้างแล้วเสร็จจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ส่งมอบงานให้จำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้เสนองานตกแต่งแต่อยู่ในระหว่างการพิจารณาการจ้างและยังไม่สามารถทำสัญญาจ้างได้ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับเหมาตกแต่งภายในอาคารชั้นดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๓ ไปว่าจ้างโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๓ ตกลงกับโจทก์เองการว่าจ้างต้องดำเนินการตามรูปแบบสัญญาจ้างอย่างชัดเจนและเป็นไปตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดสำหรับค่าจ้างตามฟ้องต่อโจทก์ และไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า เมื่อได้รับแจ้งว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานดังกล่าว จึงเข้าทำงานออกแบบล่วงหน้าก่อนการทำสัญญา เนื่องจากเป็นงานเร่งด่วนมีเวลาจำกัดที่ต้องทำให้แล้วเสร็จตามกำหนดการเปิดใช้ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตกแต่ง แต่รับทำงานให้เฉพาะการออกแบบและควบคุมงานเท่านั้น บริษัทที่ร่วมงานกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้แนะนำโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงมีหนังสือให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาตกแต่งงานที่พิพาทจำเลยที่๓ ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างที่พิพาทจึงอยู่ในฐานะผู้รับจ้างของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เช่นเดียวกับโจทก์ จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาว่าจ้างตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกส่วนสำนักงานอาคาร ซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ชั้น ๔๗ ของศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๗ มีวัถุประสงค์ตามมาตรา ๖ และมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การในคดีนี้ไม่ปรากฏสัญญาจ้างตกแต่งอาคารสำนักงานของจำเลยที่ ๑ เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏเพียงข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์เข้าทำงานตกแต่งอาคารสำนักงานจำเลยที่ ๑ และจำเลยทั้งสามต่างปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ผู้ว่าจ้าง ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ การเข้าทำงานตกแต่งดังกล่าวเป็นการเข้าทำงานโดยพลการของโจทก์ และปรากฏตามคำให้การของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ รับทราบและพบเห็นภายหลังจากโจทก์ดำเนินการตกแต่งแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ ๒ เห็นว่า เป็นงานที่มิได้เกิดจากการตกลง หรือกำหนดรูปแบบโดยจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒ จึงไม่อาจทักท้วงหรือเร่งรัดโจทก์ได้ ส่วนกรณีนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ นั้น ข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ ระบุว่า จำเลยที่ ๑ ตกลงจ้างจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่บริหารศูนย์ของจำเลยที่ ๑ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และวัตถุประสงค์ และจำเลยที่๒ เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๓ เข้ามาดำเนินการตกแต่งส่วนสำนักงานที่พิพาทในคดีนี้ แต่จำเลยที่ ๓ ให้การรับเพียงว่า รับทำงานเฉพาะการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธว่า ยังไม่มีการตกลงจ้างจำเลยที่ ๓ เข้าทำงานใด ๆ อย่างถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานการมีนิติสัมพันธ์ ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม แม้จะยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ข้อเท็จจริงที่ต่างไม่โต้แย้งกันคือ โจทก์เป็นผู้ปรับปรุงตกแต่งส่วนสำนักงานที่พิพาทในคดีนี้ และยังไม่ได้รับค่าจ้าง การที่โจทก์เข้าปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานที่พิพาทในคดีนี้ เป็นการเข้าดำเนินการที่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ ที่สืบเนื่องจากการจัดให้มีเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ จำเลยทั้งสามชำระค่าจ้างโดยอ้างว่าได้ตกแต่งภายในและติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกส่วนสำนักงานแล้วเสร็จพร้อมทั้งส่งมอบงานแล้ว แม้จำเลยทั้งสามปฏิเสธก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับ จำเลยทั้งสามในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทในทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทศรีไทยคลาสสิคโฮม จำกัด โจทก์ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่ ๑ นางงามมาศ เกษมเศรษฐ์ ที่ ๒ บริษัทสถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๒