แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดชุมพร
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชุมพรโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ นายสุธน ธรรมาภิวัฒน์ โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมป่าไม้ ที่ ๒ นายฉัตรชัย รัตโนภาส ที่ ๓นายภานุ แพเพชรทองที่ ๔ นายวิฑูรย์ ไชยเพิ่ม ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชุมพร เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๐๓/๒๕๔๙ ความว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถแบคโฮ ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ยึดไว้ในความผิดข้อหาร่วมกันบุกรุกและแผ้วถางป่า ในคดีระหว่าง นายจักรี ตั้งอั้น ผู้เสียหาย นายสัมพันธ์หรือแดงคล้ายอักษร กับพวก ผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนมอบรถแบคโฮคันดังกล่าวให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรเป็นผู้เก็บรักษาแทนตามระเบียบของทางราชการ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๘พนักงานอัยการจังหวัดชุมพรมีคำสั่งไม่ริบรถแบคโฮคันดังกล่าวและให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรคืนรถแบคโฮให้กับผู้มีสิทธิหรือเจ้าของ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘ โจทก์ยื่นคำขอรับรถคืนต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร แต่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรโดยจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรไม่ยอมคืนรถแบคโฮให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร โจทก์ได้ร้องขอคืนรถต่อจำเลยที่ ๕ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรอีกครั้ง แต่จำเลยที่ ๕ ไม่ยอมคืนรถให้โจทก์ ในระหว่างการขอคืนโจทก์ได้เสนอเรื่องไปยังจำเลยที่ ๓ ในฐานะอธิบดีของจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๓ ก็ไม่ยอมคืนโดยอ้างเหตุผลเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากรถแบคโฮคันดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างคดีอีกต่อไปเพราะพนักงานอัยการจังหวัดชุมพรมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ริบแล้ว จำเลยทั้งห้าจึงต้องคืนรถแบคโฮคันดังกล่าวแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ นอกจากจะเป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่แล้วยังเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอีกด้วย จำเลยที่ ๓ ที่๔ และที่ ๕ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๑,๙๔๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันคืนรถแบคโฮคันดังกล่าว และชำระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์เป็นเงินวันละ ๓,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทแทน
ศาลจังหวัดชุมพรมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔และที่ ๕มีคำสั่งไม่รับฟ้องเนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นบุคคลธรรมดาจึงต้องห้ามไม่ให้โจทก์ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง คำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชุมพรเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีอาญาโดยเฉพาะ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปฏิเสธไม่ยอมคืนรถของกลางให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า เจ้าพนักงานยังคงมีอำนาจยึดรถของกลางไว้อีกหรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ใช้อำนาจในการยึดรถแบคโฮของกลาง จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้เก็บรักษาเท่านั้นมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจยึดรถแบคโฮของกลางแต่อย่างใด การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ริบรถแบคโฮคันดังกล่าวและให้พนักงานสอบสวนคืนรถแบคโฮให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้ เป็นการกระทำที่นอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้ปัจจุบันจำเลยทั้งสองจะคืนรถแบคโฮคันดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการคืนรถแบคโฮของกลางให้แก่โจทก์ล่าช้า จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ยึดรถแบคโฮของโจทก์ไว้ในความผิดข้อหาร่วมกันบุกรุกและแผ้วถางป่า ในคดีระหว่าง นายจักรี ตั้งอั้น ผู้เสียหาย นายสัมพันธ์หรือแดง คล้ายอักษร กับพวก ผู้ต้องหา และมอบให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรเป็นผู้เก็บรักษาแทน ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดชุมพรมีคำสั่งไม่ริบรถแบคโฮคันดังกล่าวและให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ต่อมาพนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรคืนรถแบคโฮให้กับผู้มีสิทธิหรือเจ้าของโจทก์จึงยื่นคำขอรับรถคืนต่อหัวหน้าสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรหลายครั้ง แต่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรโดยจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ยอมคืนรถแบคโฮให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน ในระหว่างการขอคืนโจทก์ได้เสนอเรื่องไปยังจำเลยที่ ๓ ในฐานะอธิบดีของจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๓ ก็ไม่ยอมคืนโดยอ้างเหตุผลเดียวกัน ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำขอรับรถคืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกือบ๒ ปีแล้ว รถแบคโฮคันดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างคดีอีกต่อไปเพราะพนักงานอัยการจังหวัดชุมพรมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ริบแล้ว จำเลยทั้งห้าจึงต้องคืนรถแบคโฮคันดังกล่าวแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๑,๙๔๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันคืนรถแบคโฮคันดังกล่าว และชำระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพย์เป็นเงินวันละ ๓,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทแทน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยึดไว้ในความผิดอาญาตามที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ กำหนด กระทำละเมิดโดยไม่ยอมคืนรถแบคโฮของกลางให้ตามที่โจทก์ร้องขอ โดยอ้างว่าต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ ๒ ปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุธน ธรรมาภิวัฒน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมป่าไม้ ที่ ๒ นายฉัตรชัย รัตโนภาส ที่ ๓ นายภานุ แพเพชรทองที่ ๔ นายวิฑูรย์ ไชยเพิ่ม ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๕