แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแขวงพระนครใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพระนครใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีที่มีการนำคดีเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไปแล้วคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นางสาวชลธาร นฤนาทเวทิน โจทก์ ยื่นฟ้องนายณรงค์ กานต์ฎีกานนท์ ที่ ๑กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๓ นายชัยพร ทองทรัพย์ ที่ ๔ จำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ม.๔๘๗๓/๒๕๔๙ และที่ ม.๔๘๗๔/๒๕๔๙ (ศาลแขวงพระนครใต้รวมการพิจารณาคดีสำนวนทั้งสองเข้าด้วยกัน) ความว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายโดยตั้งแผงค้าอยู่บริเวณทางเท้าซอยสีลม ๒/๑ ถนนสีลม แขวงสุรวงศ์ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยใช้อำนาจไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ และเลือกปฏิบัติเข้าจับกุมและยึดสินค้าของโจทก์ แต่ไม่จับกุมและยึดกระถางต้นไม้ของเจ้าของร้านช้างฟุตแมสเซสซึ่งตั้งอยู่ติดกับแผงค้าของโจทก์ และเมื่อโจทก์แสดงความจำนงที่จะเสียค่าปรับ จำเลยที่ ๔ กลับไม่ดำเนินการ และไม่คืนของกลางของโจทก์ทั้งหมดที่ยึดไป ได้แก่ แผงตั้งเหล็ก เสื้อยืด ไม้แขวน และตระแกรง แล้วเก็บเอาไว้ที่สำนักงานเขตบางรักและมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังไว้บริเวณถนนสีลม ๒/๑ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินขอบอำนาจตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่ได้รับคืนของกลางและไม่สามารถทำการค้าขายได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๕ โจทก์มีสิทธิฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓นอกจากนี้ โจทก์วางแผงค้าฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เปรียบเทียบปรับและไม่คืนของกลางที่ยึดไว้ในการจับกุมเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ เพราะโจทก์ไม่ไปเสียค่าปรับในการจับกุมครั้งดังกล่าว และการที่จำเลยที่ ๔ สั่งการด้วยวาจาให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังไว้บริเวณซอยสีลม ๒/๑ เป็นไปเพื่อป้องปรามการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้กลั่นแกล้งโจทก์ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินความเป็นจริง
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๙๑/๒๕๔๘ ระหว่างนางสาวชลธาร นฤนาทเวทิน ที่ ๑(โจทก์) นางวรรณี ช่วยรอด ที่ ๒ นายโกศล เรืองสุวรรณ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดีกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้อำนวยการเขตบางรัก ที่ ๓ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๒ และที่ ๓ ที่ไม่อนุญาตให้ทางเท้าบริเวณซอยสีลม ๒/๑ด้านในชิดอาคารและด้านนอกเป็นจุดผ่อนผัน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ อนุญาตให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดผ่อนผันและทำการค้าได้ตามปกติ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่สั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ค้าขายบนทางเท้าบริเวณดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เข้าค้าขายได้ดังเดิมโดยมิให้เจ้าของร้านช้างฟุตแมสเซสเข้ามารบกวนหรือโต้แย้งสิทธิการใช้สอยพื้นที่บริเวณดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓คืนของกลางที่ยึดไว้ หากไม่คืนให้ชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๙,๓๑๐ บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากคำสั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ประกอบอาชีพรวมเป็นเงิน ๑๑๕,๕๙๙.๓๘ บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในข้อหาพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดในประเด็นที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนของกลางที่ยึดไปหรือให้ชดใช้ราคา ส่วนข้อหาอื่นไม่รับคำฟ้องเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสามมิใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องบางข้อหาไว้พิจารณาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง(คำสั่งที่ ๔๒๗/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙) ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ว่า คดีในข้อหาพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดในประเด็นที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ คืนของกลางที่ยึดไปหรือชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน ๙,๓๑๐บาท ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณานั้นมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานทางปกครองถือได้ว่าเป็นคดีละเมิดของหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองกลางเห็นว่า มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใด (๑) ปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือในสถานสาธารณะ และหมวด ๖ บทกำหนดโทษ มาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ตามข้อเท็จจริงในคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานครได้จับกุมและยึดแผงตั้งเหล็ก เสื้อยืด ไม้แขวน และตระแกรงของโจทก์ไว้เป็นของกลางเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นความผิดอาญา โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจับกุมและยึดของกลางดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในคดีและใช้ดุลพินิจไม่คืนของกลางดังกล่าวให้แก่โจทก์อันเป็นการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะอันอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรมตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๗/๒๕๔๙ และที่ ๒๐/๒๕๔๙
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายโดยตั้งแผงค้าอยู่บริเวณทางเท้าซอยสีลม ๒/๑ ถนนสีลม แขวงสุรวงศ์เขตบางรัก กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยใช้อำนาจไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ และเลือกปฏิบัติเข้าจับกุมและยึดสินค้าของโจทก์ แต่ไม่จับกุมและยึดกระถางต้นไม้ของเจ้าของร้านช้างฟุตแมสเซสซึ่งตั้งอยู่ติดกับแผงค้าของโจทก์ และเมื่อโจทก์แสดงความจำนงที่จะเสียค่าปรับ จำเลยที่ ๔ กลับไม่ดำเนินการ และไม่คืนของกลางของโจทก์ทั้งหมดที่ยึดไป ได้แก่ แผงตั้งเหล็ก เสื้อยืด ไม้แขวน และตระแกรง โดยเก็บเอาไว้ที่สำนักงานเขตบางรักและมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังไว้บริเวณถนนสีลม ๒/๑ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินขอบอำนาจตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่ได้รับคืนของกลางและไม่สามารถทำการค้าขายได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์วางแผงค้าฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เปรียบเทียบปรับและไม่คืนของกลางที่ยึดไว้ในการจับกุมเมื่อวันที่๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ เพราะโจทก์ไม่ไปเสียค่าปรับในการจับกุมครั้งดังกล่าว และการที่จำเลยที่ ๔ สั่งการด้วยวาจาให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรึงกำลังไว้บริเวณซอยสีลม ๒/๑ เป็นไปเพื่อป้องปรามการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้กลั่นแกล้งโจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง กำหนดอำนาจหน้าที่ ขั้นตอนดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และบทกำหนดโทษกรณีมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นในสังกัดจำเลยที่ ๒ เข้าจับกุมและยึดสินค้าของโจทก์ไว้เป็นของกลางเนื่องจากโจทก์กระทำการฝ่าผืนพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการกระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดนั้น พร้อมด้วยยานพาหนะเครื่องมือ และสิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยมาตรา๕๔ กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๕ มาตรา ๒๐ มาตรา๒๒ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และมาตรา ๔๘ กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป ซึ่งเป็นไปตามที่มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ และที่๔ กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยใช้อำนาจไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่าการตั้งวางแผงค้าของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา๓๙ ซึ่งมีบทกำหนดโทษปรับตามมาตรา ๕๔ จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๕๐ เข้าจับกุมและยึดของกลาง ทั้งใช้อำนาจเปรียบเทียบปรับตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การว่ายังไม่มีการชำระค่าปรับ ซึ่งหากมีการชำระค่าปรับ มาตรา ๔๘ วรรคสอง กำหนดให้คดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบหรือไม่ชำระภายในกำหนดสิบห้าวันก็ให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป ซึ่งขั้นตอนในการจับ ยึดของกลาง รวมทั้งการเปรียบเทียบเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสาวชลธาร นฤนาทเวทิน โจทก์ นายณรงค์ กานต์ฎีกานนท์ ที่ ๑ กรุงเทพมหานคร ที่ ๒ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๓ นายชัยพร ทองทรัพย์ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ