แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๕๑
วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๖ ศาลปกครองสงขลารับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๓๔๖/๒๕๔๖ ระหว่างวัดอุทัย ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดิน (ที่ธรณีสงฆ์) ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๘๕ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๘๑.๒ ตารางวา เดิมไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแต่ขึ้นทะเบียนที่ดินศาสนสมบัติไว้ในลำดับที่ ๑๔๘ ซึ่งตรงกับทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ และผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้พนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา แต่เทศบาลเมืองสงขลาคัดค้านอ้างว่า เทศบาลเมืองสงขลามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตามแบบแจ้งความครอบครองเลขที่ ๑๕๕ เทศบาลเมืองสงขลาจึงยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสงขลา ระหว่างพิจารณาคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำแผนที่ที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ดิน ๓๓ ไร่ ๓ งาน ๗๒.๗ ตารางวา ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๔๗๒/๒๕๔๑ พิพากษายืนเช่นกัน โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของผู้ฟ้องคดี และก่อนมีคดีพิพาทระหว่างเทศบาลเมืองสงขลากับผู้ฟ้องคดีนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งนายถนอม จารุพันธ์กับพวกต่อศาลจังหวัดสงขลากรณีจำเลยนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ธรณีสงฆ์ตามทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ บางส่วน ศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๐/๒๕๒๙ วินิจฉัยว่า นายถนอมกับพวกนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๖๕ รุกล้ำเข้าไปในที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๙๕ ตารางวา โดยผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองสำนวนที่พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาจึงออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๘๕ ให้เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๓ ต่อมาราษฎรร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวโดยอ้างว่าอาศัยอยู่ก่อน จังหวัดสงขลามีคำสั่งที่ ๓๔๓๗/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการมีมติว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดเป็นที่ธรณีสงฆ์ การรังวัดออกโฉนดถูกต้องตรงตามที่ปรากฏในทะเบียนศาสนสมบัติและศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ของ ผู้ฟ้องคดีแล้ว การขอออกโฉนดจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่ราษฎรกลับร้องเรียนไปยังคณะกรรมการประสานงานการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องขององค์กรประชาชนหรือกลุ่มบุคคล สำนักนายกรัฐมนตรี อนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทดังกล่าวมีมติให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดเลขที่ ๕๕๐๘๕ เฉพาะส่วนที่เกินจากทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ โดยอ้างว่าแผนที่พิพาทที่ได้จัดทำขึ้นในชั้นศาลผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น อาณาเขตและระยะแนวเขตของที่พิพาทที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินมีอาณาเขตและระยะแนวเขตมากกว่าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นจำนวนมาก เชื่อได้ว่ามีการนำที่ดินนอกหลักฐานทะเบียนที่วัดมาออกโฉนด รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเห็นชอบและมีคำสั่งให้กรมที่ดินและจังหวัดสงขลาพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินตามมติของอนุกรรมการ ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เรื่องแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เป็นเหลือเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา โดยให้กันเนื้อที่ออกจำนวน ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวา อ้างว่าเนื้อที่ส่วนที่ให้กันออกนั้นเป็นการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็นการออกคำสั่งโดยแก้ไขคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เรื่องแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๘๕ ที่มีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๓ โดยอาศัยหลักฐานทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖(ทะเบียนศาสนสมบัติเลขที่ ๑๔๘) ประกอบคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒๑เมษายน ๒๕๔๑ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินอยู่ติดกับทะเลสาบและคลอง โดยด้านทิศเหนือติดคลองทิศตะวันตกติดทะเลสาบ ซึ่งทะเลสาบและคลองอยู่ติดกันและอยู่ใกล้ทะเลหลวงมากได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล ประกอบกับปรากฏข้อความในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ ว่าที่พิพาทดังกล่าวมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง จึงต้องฟังว่าที่ดังกล่าวบางส่วนเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึงเป็นที่ชายตลิ่ง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๔ (๑) ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ แก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยกันเขตที่ดินส่วนที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์ออกเป็นจำนวนเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวา และแก้ไขเนื้อที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าวจากเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๘๑.๒ ตารางวาเป็นเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ ในคดีระหว่างเทศบาลเมืองสงขลา โจทก์ ผู้ฟ้องคดี จำเลย ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งตามรูปคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินเป็นของโจทก์หรือจำเลย แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง ถือได้ว่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะมีการถมตามสภาพที่เห็นในปัจจุบันที่ดินดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน กรณีจึงเป็นการพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งมิใช่ประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแก้ไขโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่การกระทำที่เป็นการก้าวล่วงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่อย่างใด
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดิน (ที่ธรณีสงฆ์) ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๘๕ เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๘๑.๒ ตารางวา ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาออกให้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เป็นเหลือเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการแก้ไขคำพิพากษาของศาลโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำได้ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งว่า การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบางส่วนออกทับที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๔ (๑) การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ที่สั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๕๘ ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่ถูกกันเขตออกไปจำนวนเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวา นั้น เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖๑/๒๕๔๗ และที่ ๑๙/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ เรื่องแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดิน โดยคดีสืบเนื่องมาจากกรมที่ดิน เคยออกโฉนดที่ดินพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีตามที่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดอุทัย ผู้ฟ้องคดี ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ตามที่โจทก์ระบุอ้าง แต่ที่ถูกคือ๒๔๗๖/๒๕๔๑) การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างเหตุที่ต้องแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ที่ดินส่วนที่ออกโฉนดคลาดเคลื่อนไปนั้นเป็นที่ดินน้ำทะเลท่วมถึงถือว่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๔ (๑) โดยก่อนออกคำสั่งดังกล่าวอธิบดีกรมที่ดินอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖๑ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ ดำเนินการสอบสวนและบันทึกความเห็นเสนอเพื่อพิจารณา สรุปความได้ว่าที่ดินแปลงนี้สภาพที่ดินเดิมเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังมีพันธุ์ไม้พื้นเมืองขึ้นบางส่วน ต่อมามีการปรับปรุงพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยจนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนมาก่อน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นที่ดินมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดินประกอบกับศาลฎีกามีคำพิพากษาในเรื่องดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดอุทัยจึงไม่ควรแก้ไขโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ที่ศาลปกครองมีความเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งให้กันเขตที่ดินออกไปนั้น เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินนั้น ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ ๒๔๗๖/๒๕๔๑) นั้น ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานจนได้ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินพิพาทระหว่างเทศบาลเมืองสงขลา โจทก์ และวัดอุทัย จำเลย นั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์ของจำเลยตามทะเบียนศาสนสมบัติเลขที่ ๑๔๘และนอกจากนี้ในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวยังปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดของที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวไม่ว่าจะในส่วนของแนวเขตที่ดินและสภาพที่ดินขณะที่ผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งกับเทศบาลเมืองสงขลาในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง และเป็นสภาพของที่ดินตั้งแต่ก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) จะมีผลใช้บังคับและยังปรากฏข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้รายงานในบันทึกของคณะกรรมการซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่เดิมตั้งแต่แรกและเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดี (ที่ถูกน่าจะเป็นผู้ถูกฟ้องคดี) ทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่มีการรับฟังเป็นข้อยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีและใช้ยันบุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ และข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าที่ดินที่ถูกกันเขตออกไปจำนวนเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวานั้นเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ คดีดังกล่าวนี้จึงมีประเด็นที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๑๒๗๖/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ๒๔๗๖/๒๕๔๑ แต่ตามที่โจทก์อ้างจะระบุเป็น ๒๔๗๒/๒๕๔๑) ซึ่งฝ่ายผู้ฟ้องคดี (ที่ถูกน่าจะเป็นผู้ถูกฟ้องคดี) ก็ให้การรับว่าการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ถูกฟ้องคดี (ที่ถูกน่าจะเป็นผู้ฟ้องคดี) นั้น ออกโดยสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณาคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดิน(ที่ธรณีสงฆ์) ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๐๘๕ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ ๓๓ไร่ ๑ งาน ๘๑.๒ ตารางวา เดิมไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินแต่ขึ้นทะเบียนที่ดินศาสนสมบัติไว้ในลำดับที่ ๑๔๘ ซึ่งตรงกับทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ และผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา แต่เทศบาลเมืองสงขลาคัดค้านอ้างว่าเทศบาลเมืองสงขลามีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวตามแบบแจ้งความครอบครองเลขที่ ๑๕๕ และยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสงขลา ระหว่างพิจารณาคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำแผนที่ที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ดิน ๓๓ ไร่ ๓ งาน ๗๒.๗ตารางวา ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ ๒๔๗๖/๒๕๔๑) พิพากษายืนเช่นกัน โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของผู้ฟ้องคดี นอกจากนี้ก่อนหน้าคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งนายถนอม จารุพันธ์กับพวกต่อศาลจังหวัดสงขลากรณีจำเลยนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ธรณีสงฆ์ตามทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ บางส่วน ศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๐/๒๕๒๙ วินิจฉัยว่านายถนอมกับพวกนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๔๖๕ รุกล้ำเข้าไปในที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ๑ งาน ๙๕ ตารางวา โดยผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองสำนวน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลาจึงออกโฉนดที่ดินเลขที่๕๕๐๘๕ ให้ผู้ฟ้องคดี ต่อมามีราษฎรร้องเรียนคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวโดยอ้างว่าอาศัยอยู่ก่อน อนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทมีมติให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดเลขที่ ๕๕๐๘๕เฉพาะส่วนที่เกินจากทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ อ้างว่าแผนที่พิพาทที่ได้จัดทำขึ้นในชั้นศาลผูกพันเฉพาะคู่กรณี อาณาเขตและระยะแนวเขตของที่พิพาทที่ใช้ในการออกโฉนดที่ดินมากกว่าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นจำนวนมาก เชื่อได้ว่ามีการนำที่ดินนอกหลักฐานทะเบียนที่วัดมาออกโฉนด รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในขณะนั้นเห็นชอบและมีคำสั่งให้กรมที่ดินและจังหวัดสงขลาพิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินตามมติของอนุกรรมการ ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๘๑๗/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว เหลือเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา และให้กันเนื้อที่ออกจำนวน ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวา อ้างว่าเนื้อที่ส่วนที่ให้กันออกนั้นเป็นการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับที่ดินที่น้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ออกโดยอาศัยหลักฐานทะเบียนที่วัดเลขที่ ๑๔๖ (ทะเบียนศาสนสมบัติเลขที่ ๑๔๘) ประกอบคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ ๒๔๗๖/๒๕๔๑) ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินอยู่ติดกับทะเลสาบและคลอง ด้านทิศเหนือติดคลอง ทิศตะวันตกติดทะเลสาบ ซึ่งทะเลสาบและคลองอยู่ติดกันและอยู่ใกล้ทะเลหลวงมากได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล ประกอบกับปรากฏข้อความในคำพิพากษาฎีกาที่๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ ๒๔๗๖/๒๕๔๑) ว่าที่พิพาทดังกล่าวมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง จึงต้องฟังว่าที่ดังกล่าวบางส่วนเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึงเป็นที่ชายตลิ่ง อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๔ (๑) ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าว แม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒/๒๕๔๑ (ที่ถูกคือ ๒๔๗๖/๒๕๔๑) ในคดีระหว่างเทศบาลเมืองสงขลา โจทก์ ผู้ฟ้องคดี จำเลย ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งตามรูปคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินเป็นของโจทก์หรือจำเลย แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่น้ำทะเลท่วมถึง ถือได้ว่า เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะมีการถมตามสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ที่ดินดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน กรณีจึงเป็นการพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งมิใช่ประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแก้ไขโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่การกระทำที่เป็นการก้าวล่วงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่อย่างใด เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึงมีสภาพเป็นที่ชายตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดียกประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นโต้แย้งก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นแห่งคดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สั่งให้แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินพิพาทให้เหลือเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๕ ตารางวา และให้กันเนื้อที่ออกจำนวน ๒๘ ไร่ ๒๖.๒ ตารางวา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาท นั้นคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง วัดอุทัย ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน