คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ไปเป็นจำนวนเพียงใดผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 คดีนี้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยไปบางส่วนเป็นเงิน 300,000 บาทแล้ว โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยผู้ทำละเมิดในจำนวนของวินาศภัยของทรัพย์ที่เอาประกันภัยเฉพาะส่วนที่เหลืออีก 600,000 บาท เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์ จำเลยได้ทำผิดสัญญาเช่าโดยนำสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิง เช่น สีสเปรย์ และน้ำมันเครื่องเข้าไปเก็บในตึกแถวที่เช่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2526 เวลาประมาณ 5 นาฬิกานายสิบเอ็ด ติวัฒนาสุข ซึ่งเป็นบุคคลที่จำเลยจ้างหรือใช้เป็นผู้เฝ้าดูแลตึกแถวพิพาท ทำให้เกิดเพลิงไหม้ตึกแถวที่เช่าทั้งสามห้อง อันเป็นการกระทำผิดสัญญาเช่าและการทำละเมิดของนายสิบเอ็ด ซึ่งจำเลยทั้งสามในฐานะผู้เช่าหรือนายจ้างต้องร่วมรับผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,308,000 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,200,000 บาท และค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้เดือนละ1,500 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สินค้าประเภทสีสเปรย์และน้ำมันเครื่องที่จำเลยนำเข้าไปเก็บในตึกพิพาท จำเลยทำประกันอัคคีภัยไว้และได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองแล้ว เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสิบเอ็ด ติวัฒนาสุข และนายสิบเอ็ดไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือบุคคลที่จำเลยใช้ให้เฝ้าดูแลรักษาสิ่งของในตึกพิพาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องนั้นสูงกว่าความจริงโจทก์ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของตึกแถวทั้งสามห้องจากบริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด ที่โจทก์เอาประกันอัคคีภัยไว้แล้ว อีกทั้งโจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายสำหรับค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท กับค่าขาดรายได้ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 518,737 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 505,737 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับในต้นเงิน 18,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 279,930 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 261,930 บาท และ 18,000 บาท นับตั้งแต่วันที่1 พฤษภาคม 2526 และวันฟ้องตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นค่าเสียหาย ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน 900,000 บาท ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนบางส่วนจากบริษัทประกันภัยจำนวน 300,000 บาทเป็นสิทธิในฐานะผู้เอาประกันภัยต่างหากและการรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า ในส่วนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ไปเป็นจำนวนเพียงใดผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยไปแล้ว 300,000 บาทโจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนวินาศภัยของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยส่วนที่เหลือเป็นเงิน 600,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน618,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน600,000 บาท และ 18,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2526 และวันฟ้องตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share