คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีผู้กู้ผิดนัดไว้อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 438,274.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากเงิน 398,667.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยประกันภัยทุก ๆ 3 ปี ต่อครั้ง ครั้งละ 1,631.75 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 431,117.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงิน 398,667.45 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดห้องชุดเลขที่ 1240/8 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ เอ ชื่ออาคารชุดนิรันดร์ซิตี้ ลาดพร้าว 101 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 246964 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2545 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ประกาศของโจทก์เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามสัญญากู้เงินในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดหรือไม่ก็ตาม โจทก์มิได้เรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสอง ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองกู้เงินจากโจทก์เพิ่ม และตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แล้วโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี และ 7.25 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในประกาศของโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินจึงมีความหมายว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินไม่คงที่แน่นอนแต่ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินจึงเป็นไปตามประกาศของโจทก์ และตามประกาศของโจทก์เรื่องการเรียกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ข้อ 2 โจทก์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีผู้กู้ผิดนัดไว้อัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิมอัตราร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share