แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาแฟ็กเตอริง ข้อ 8 ระบุว่าการเก็บเงินจากลูกหนี้ จำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินแก่ลูกหนี้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายแก่โจทก์แล้ว หากลูกหนี้นำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำมามอบแก่โจทก์ แสดงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำหนี้รายใดมาขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้และรับชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ส่วนข้อตกลงว่า หากจำเป็นโจทก์มีสิทธิใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดี ก็เป็นเพียงวิธีการเพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในหนี้ที่รับซื้อไว้ ส่วนการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลเพียงว่าหากยังไม่บอกกล่าวไปยังลูกหนี้ โจทก์ไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิได้ทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแฟ็กเตอริงกับโจทก์ ตกลงเสนอขายลดหนี้ของลูกหนี้จำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เหล่านั้นแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จะจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และเมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดถึงกำหนดชำระ โจทก์จะเป็นผู้ไปดำเนินการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 หากโจทก์เรียกเก็บเงินได้ โจทก์จะหักค่าใช้จ่ายตามสัญญาออกก่อนมีเงินเหลือเท่าใดโจทก์จะชำระคืนแก่จำเลยที่ 1 และหากหนี้รายใดไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์พร้อมค่าส่วนลดอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ค่าธรรมเนียมจัดการอัตราร้อยละ 0.9 ของมูลค่าที่เริ่มโอนกับใบอินวอยซ์และใบเครดิตที่โอนมาครั้งต่อ ๆ ไป แต่อย่างต่ำเดือนละ 4,500 บาท เบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของยอดหนี้ที่เกินกำหนดเวลาชำระ ในการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวเข้าค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำหนี้ของลูกหนี้จำเลยที่ 1 ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระมาขายลดแก่โจทก์หลายครั้งหลายราย โจทก์ได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว แต่หนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดแก่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้หลายรายการ โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปพร้อมส่วนลด เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,670,012.24 บาท โจทก์ได้แจ้งหนี้ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ชำระ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวเป็นต้นไป จนถึงวันฟ้องคิดดอกเบี้ย 32,918.10 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 2,702,930.34 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 2,702,930.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,670,012.24 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาแฟ็กเตอริงกับโจทก์ ทั้งมิได้มีข้อตกลงในการโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนังสือให้ไว้แก่โจทก์ อีกทั้งโจทก์มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ให้ความยินยอมในการโอนหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,670,012.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2540 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 จะนำหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก และเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระมาขายแก่โจทก์ โจทก์จะจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินร้อยละ 80 ของหนี้ที่นำมาขาย นอกจากนี้โจทก์มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียม รวมทั้งเบี้ยปรับด้วย และเมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วเหลือเท่าใด โจทก์ต้องชำระคืนแก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด เอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 6 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า สัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 และ 306 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด เอกสารหมาย จ. 5 ข้อ 8 การเก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินแก่ลูกหนี้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายแก่โจทก์แล้ว หากลูกหนี้นำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำมามอบแก่โจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด เอกสารหมาย จ. 5 ข้อ 8.1 ถึง 8.9 แสดงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำหนี้รายใดมาขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้และรับชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือรับชำระหนี้ในหนี้รายนั้นต่อไป สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 ส่วนข้อตกลงว่าหากจำเป็นโจทก์มีสิทธิใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดี ก็เป็นเพียงวิธีการและรายละเอียดเพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในหนี้ที่รับซื้อไว้ ส่วนการบอกกล่าวเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลเพียงว่าหากยังไม่บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ โจทก์ไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 10,000 บาท แทนโจทก์.