แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างขัดคำสั่งของนายจ้างโดยเข้าอยู่อาศัยในสำนักงานของนายจ้างกับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยมิชอบ เมื่อนายจ้างสั่งให้ย้ายออกก็มิได้ย้ายออกไปในทันที กับไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของนายจ้างซึ่งให้ลงชื่อในเช็คสองคน แม้ลูกจ้างดังกล่าวจะเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง นายจ้างก็เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวนั้นได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 กรณีเช่นนี้ไม่อาจนำมาตรา387 ซึ่งอยู่ในบรรพ 2 ลักษณะ 2 หมวดที่ 4 เรื่อง การเลิกสัญญามาใช้บังคับ เพื่อให้นายจ้างรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้เพราะการจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาในบรรพ 3 ที่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 583 อยู่แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 คือ อินเตอร์เนชั่นแนล บอร์ด ฟอร์ซอยส์ รีเสริช แอนด์ แมนเนจเม้นต์ เป็นองค์การระหว่างประเทศมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยและในต่างประเทศจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนสามปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขยายระยะเวลาการว่าจ้างโจทก์ออกไปอีกหนึ่งปีซึ่งจะครบกำหนดการว่าจ้างในวันที่30 เมษายน 2534 แต่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างทันที และไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือให้โจทก์อีกต่อไป ทั้งนี้เป็นการเลิกจ้างก่อนกำหนดสัญญาจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ปรากฏความผิดใด ๆ การกระทำของจำเลยคดีนี้จึงเป็นการผิดสัญญาว่าจ้างและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าจ้างที่เหลือ และค่าบำเหน็จ ค่าวันหยุดพักผ่อนและวันหยุดกลับภูมิลำเนาค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์จงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1หลายประการ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงสองประการ กล่าวคือ เข้าอยู่อาศัยในสำนักงานของจำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยมิชอบ เมื่อจำเลยที่ 2 สั่งให้ย้ายออกก็มิได้ย้ายออกไปในทันที กับไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 ที่ให้ลงชื่อในเช็คสองคน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะพนักงานอาวุโสและหัวหน้าสำนักงานแต่เนื่องจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและไม่มีข้อกำหนดในสัญญาว่าหากโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 1จะเลิกสัญญาได้ การเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยผิดสัญญาแต่การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 300,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดจำนวน 209,479.20 บาท รวมเป็นเงิน 509,479.20 บาทพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 509,479.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 ธันวาคม 2533)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 จำเลยที่ 1อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนและโดยไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงสองประการกล่าวคือ เข้าอยู่อาศัยในสำนักงานของจำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยมิชอบ และเมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งให้ย้ายออกก็มิได้ย้ายออกไปในทันทีกับไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1ซึ่งให้ลงชื่อในเช็คสองคน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะพนักงานอาวุโส และหัวหน้าสำนักงาน ดังนี้ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 กรณีเช่นนี้ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งอยู่ในบรรพ 2 ลักษณะ 2 หมวดที่ 4 เรื่องการเลิกสัญญามาใช้บังคับเพราะการจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาในบรรพ 3 ที่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 583 อยู่แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 มาใช้บังคับและกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์209,479.20 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง