แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังยักยอกเงินศาสนสมบัติจากอำเภอไชยา และอำเภอพระแสง หลายครั้งรวมเป็นเงิน 52,922 บาท 55 สตางค์ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคดีถึงที่สุดไปแล้วส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่าทุจริตเบียดบังเงินศาสนสมบัติสำหรับซ่อมแซมพระอุโบสถวัดน้ำหัก อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดเดียวกันไปเป็นจำนวน30,000 บาท แม้ว่าเหตุในคดีนี้จะเกิดอยู่ในช่วงระยะเวลาของคดีก่อนสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่เดียวกันและเงินที่จำเลยทุจริตเบียดบังเอาไปนั้นเป็นเงินประเภทเดียวกันก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องยังไม่ชี้ชัดลงไปว่าเงินจำนวน 30,000 บาท ที่โจทก์หาว่าจำเลยเบียดบังในคดีนี้ เป็นจำนวนเดียวกันรวมอยู่ในคดีก่อนหรือไม่ และโจทก์สามารถจะฟ้องรวมมาในคดีก่อนได้อยู่แล้วหรือไม่จึงชอบที่จะฟังจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยเสียก่อน ไม่ควรสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประจำแผนกการเงินที่ทำการศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีหน้าที่เก็บรักษาเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินของทางราชการประเภทต่าง ๆ และมีหน้าที่รับจ่ายเงินของที่ทำการศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2510 กรมการศาสนาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวน 30,000 บาท โอนมาตั้งจ่ายที่คลังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่ออุดหนุนบำรุงพระศาสนาซ่อมแซมบูรณะพระอุโบสถวัดน้ำหัก จำเลยมีหน้าที่จัดการให้เงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวพ้นสภาพหรือเปลี่ยนจากเงินงบประมาณแผ่นดินกลายเป็นเงินศาสนสมบัติอุดหนุนวัดน้ำหัก เพื่อรอให้วัดน้ำหักเบิกนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ต่อไป แต่จำเลยไม่กระทำการดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2510 เวลากลางวันจำเลยเบิกเงินงบประมาณกรมการศาสนา จำนวน 30,000 บาท จากคลังจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วฝากเข้าคลังจังหวัดสุราษฎร์ธานีในฐานะเป็นเงินศาสนสมบัติ อุดหนุนวัดน้ำหักโดยมิได้จัดให้ศึกษาธิการอำเภอคีรีรัฐนิคมเป็นผู้ดำเนินการตามระเบียบ ครั้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2511 เวลากลางวันจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตบังอาจเบิกเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินศาสนสมบัติอุดหนุนบูรณะวัดน้ำหักดังกล่าวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วเบียดบังเงิน 30,000 บาท เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต โดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมหรือใช้ผู้อื่นลงลายมือชื่อปลอมในบัญชีจ่ายเงินค่าใช้สอยกรมการศาสนา (สมุด ธ.10) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือรัฐ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่ามีผู้ลงลายมือชื่อรับเงินจำนวนข้างต้นไปโดยถูกต้องแท้จริง เป็นการปลอมเอกสารราชการ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่รัฐเอาไปเสียซึ่งทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองรักษาไว้ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 158, 264, 265 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ความจริงเงินจำนวนนี้เจ้าอาวาสวัดน้ำหักได้รับไปถูกต้องแล้ว ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1251/2513, 1252/2513, 1253/2513 ของศาลชั้นต้นซึ่งรวมพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่จำต้องสืบพยานโจทก์จำเลย จึงให้งด แล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายรายละเอียดการกระทำผิดของจำเลยในระหว่างระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน ซึ่งโจทก์ควรจะรวมฟ้องไว้ในคดีก่อน โจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่เป็นการเอาเปรียบจำเลย เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าในคดีก่อนโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังยักยอกทรัพย์ของทางราชการทำลายซ่อนเร้นทำให้สูญหายซึ่งเอกสารของทางราชการ รวมหลายอย่างหลายรายการโดยเฉพาะในฟ้องข้อ 1 ง. โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2506 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2512 จำเลยโดยทุจริตเบียดบังยักยอกเงินศาสนสมบัติจากอำเภอไชยา และอำเภอพระแสง หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 52,922 บาท 55 สตางค์ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย คดีถึงที่สุดก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยโดยทุจริตเบียดบังเงินศาสนสมบัติสำหรับซ่อมแซมบูรณะพระอุโบสถวัดน้ำหัก อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนเงิน 30,000 บาท โดยดำเนินการกระทำเป็น 2 ตอน คือในวันที่ 23 มิถุนายน 2510 จำเลยเบิกเงินงบประมาณกรมการศาสนา จำนวน 30,000 บาท ฝากคลังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเงินศาสนสมบัติอุดหนุนวัดน้ำหัก ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2511 จำเลยจึงเบิกเงิน 30,000 บาท นี้เบียดบังเอาเป็นประโยชน์ตนหรือผู้อื่น แม้ว่า เหตุในคดีนี้จะเกิดอยู่ในช่วงระยะเวลาของคดีก่อน สถานที่เกิดเหตุอยู่ที่เดียวกันคือที่ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเงินที่จำเลยทุจริตเบียดบังเอาไปนั้นเป็นเงินศาสนสมบัติประเภทเดียวกันก็ตาม เพียงแต่ดูตามคำบรรยายฟ้องยังไม่ชี้ขาดว่า เงินจำนวน 30,000 บาทที่โจทก์หาว่าจำเลยเบียดบังในคดีนี้ เป็นจำนวนเดียวกันรวมอยู่ในคดีก่อนหรือไม่ หรือเป็นคนละจำนวนและโจทก์สามารถที่จะฟ้องรวมมาในคดีก่อนได้อยู่แล้วหรือไม่ จึงชอบที่จะฟังจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยเสียก่อน หาควรด่วนวินิจฉัยไปในชั้นนี้ไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปจนเสร็จสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี