แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ผู้แทนของนิติบุคคลได้กระทำในนามของนิติบุคคลและการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้ามิใช่ความผิดเฉพาะตัวตามที่กฎหมายระบุไว้ ผู้แทนทั้งหลายผู้ลงมือกระทำจะต้องมีความผิดเป็นส่วนตัวด้วย จะอ้างความเป็นผู้แทนนิติบุคคลเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดหาได้ไม่
บริษัท ก. จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ทุนจดทะเบียน 70,000 บาท มีวัตถุประสงค์หลายประการรวมทั้งการให้กู้ยืมเงินด้วย ท. จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ส.จำเลยเป็นกรรมการได้เปิดดำเนินการให้กู้ยืมเงินโดยประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครต้องชำระค่าสมัคร ค่าบำรุง และค่าบริการคนละ 200 บาท กับเงินสมทบกลุ่มกองทุนเงินกู้อีก 300 บาท สมาชิกมีสิทธิขอกู้จากบริษัทได้คนละ 2,500 บาท ถึง 5,000 บาทผู้เสียหายรวม 10 คนต่างสมัครเข้าเป็นสมาชิก การให้กู้ยืมโดยการจัดตั้งรูปแบบองค์การคล้ายสมาคมหรือสหกรณ์ดังที่จำเลยจัดดำเนินการนี้เป็นการเบนออกนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ เงินทุนตามที่จดทะเบียนไว้มีเพียง 70,000 บาท ไม่ปรากฏว่าได้เรียกเก็บเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้วหรือไม่ ทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏว่ามี และการดำเนินงานนี้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในสำนักงานค่าจ้างเสมียน และค่าเช่าสถานที่ สำหรับเงินค่าสมัครที่เรียกเก็บจากสมาชิกนั้น เมื่อหักค่าตอบแทนและค่าพาหนะของตัวแทนผู้ชักนำออกแล้วคงเหลือรายละ 100 บาทเศษ ส่วนเงินของสมาชิกคนละ 300 บาทอันเป็นทุนหมุนเวียนให้กู้ก็ไม่สามารถหมุนหามาให้กู้ได้ทั่วทุกคนตามสิทธิของสมาชิก พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นแผนการที่ดำเนินการโดยเจตนาทุจริตเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อ เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันหลอกลวงนายเฉยกับพวกอีก 9 คน และประชาชนอื่นทั่วไปโดยตั้งบริษัทกรุงไทยสาธิต จำกัด ขึ้น แล้วประกาศโฆษณารับสมัครผู้เข้าเป็นสมาชิกว่า บริษัทมีเงินทุนให้ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกู้ ความจริงจำเลยกระทำไปเพื่อหวังเอาเงินที่นายเฉยกับพวกมาสมัครเป็นสมาชิกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้นายเฉยกับพวกสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยส่งมอบเงินคนละ 500 บาท ให้จำเลย รวมเป็นเงิน 5,000 บาท แล้วจำเลยพากันหลบหนีไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 83 และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงินรวม 5,000 บาทแก่ผู้เสียหายทุกคนตามส่วนด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายทำนองและนางสุนทรีจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 จำคุกคนละ 5 ปี และให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 5,000 บาทให้แก่ผู้เสียหายทุกคนตามส่วนด้วยยกฟ้องโจทก์สำหรับนายวิสุทธิ์จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษนายวิสุทธิ์จำเลย นายทำนองและนางสุนทรีจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับนายทำนองและนางสุนทรีจำเลย ส่วนนายวิสุทธิ์จำเลยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า บริษัทกรุงไทยสาธิต จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์หลายประการ รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินด้วย เดิมสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดพระนคร ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่จังหวัดลพบุรีนายทำนองจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการนางสุนทรีจำเลยเป็นกรรมการได้เปิดดำเนินกิจการให้กู้ยืมเงินชื่อว่า “กลุ่มสมทบกองทุนเงินกู้” โดยนำเงินของบริษัทรวมทุนกับของสมาชิกออกให้สมาชิกกู้ ได้โฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งผู้สมัครจะต้องชำระค่าสมัคร ค่าบำรุง ค่าบริการคนละ 200 บาทและเงินสมทบกลุ่มกองทุนเงินกู้อีก 300 บาท (เป็นเงินที่จะนำไปสมทบกับของบริษัทให้สมาชิกกู้) รวมเป็นเงิน 500 บาท เงินสมทบกลุ่มกองทุนเงินกู้ 300 บาทนี้บริษัทจะคืนให้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เมื่อครบ 10 ปีแล้วโดยเริ่มคิดดอกเบี้ยให้เมื่อเข้าเป็นสมาชิกครบ 6 เดือน พร้อมกันนั้นก็มีสิทธิขอกู้จากบริษัทได้คนละ 2,500 บาท ถึง 5,000 บาท เพื่อการนี้บริษัทได้เปิดสาขาขึ้นหลายจังหวัดรวมทั้งจังหวัดกำแพงเพชรด้วยสำหรับสาขาจังหวัดกำแพงเพชรมีนายวิสุทธิ์จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาได้มีการโฆษณาหาสมาชิกด้วย เอกสารแผ่นปลิวและด้วยการแต่งตั้งตัวแทนขยายงานออกชักชวนประชาชนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้จัดการสาขาและตัวแทนดังกล่าว นอกจากจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทแล้วยังได้รับค่าตอบแทนจากการหาสมาชิกและค่าพาหนะโดยหักจากเงินค่าเข้าเป็นสมาชิก จำนวนเงินที่เหลือผู้จัดการสาขาจะส่งสำนักงานใหญ่จังหวัดลพบุรีเพื่อให้ออกหลักฐานการเป็นสมาชิกแก่ผู้สมัครต่อไป ด้วยการโฆษณาดังกล่าวเป็นเหตุให้นายเฉยกับพวกผู้เสียหายตามฟ้องต่างสมัครเข้าเป็นสมาชิก ได้ชำระเงินให้แก่นายวิสุทธิ์จำเลยและตัวแทนขยายงานไปคนละ 500 บาท ซึ่งทางสำนักงานใหญ่ได้ออกหลักฐานการเป็นสมาชิกให้แก่ผู้เสียหายแล้วบางคนก็ยังไม่ได้ ต่อมาปรากฏว่าสำนักงานสาขาปิด เครื่องใช้ในสำนักงานไม่มีเหลืออยู่นายวิสุทธิ์จำเลยไม่ปรากฏตัวและไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด ผู้เสียหายจึงพากันไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นส่วนตัวนั้น เห็นว่าในกรณีผู้แทนของนิติบุคคลได้กระทำในนามของนิติบุคคล และการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายถ้ามิใช่ความผิดเฉพาะตัวตามที่กฎหมายระบุไว้ ผู้แทนทั้งหลายผู้ลงมือกระทำจะต้องมีความผิดเป็นส่วนตัวด้วย จะอ้างความเป็นผู้แทนนิติบุคคลเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดหาได้ไม่ กรณีตามฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยผู้แทนของบริษัทกรุงไทยสาธิต จำกัดกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนในนามของบริษัท ซึ่งความผิดดังกล่าวมิใช่ความผิดที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดเฉพาะตัวของนิติบุคคลโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัวได้
ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทกรุงไทยสาธิต จำกัด ที่จดทะเบียนไว้ว่าดำเนินการให้กู้ยืมทุกประเภท ตามความหมายย่อมหมายถึงการให้กู้ยืมอย่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ตามธรรมดาทั่ว ๆ ไป มิใช่จัดตั้งรูปแบบองค์การคล้ายสมาคมหรือสหกรณ์ดังที่จำเลยจัดดำเนินการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบนออกนอกวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งพิเคราะห์วิธีดำเนินการและทุนดำเนินงานของบริษัทประกอบกันแล้ว การก็จะเป็นไปดังจำเลยประกาศชักชวนให้ประชาชนสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกไม่ได้เพราะทุนจดทะเบียนมีเพียง 70,000 บาท ไม่ปรากฏว่าเรียกเก็บเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้วหรือไม่ ทรัพย์สินอื่นของบริษัทก็ไม่มีปรากฏ กิจการของสำนักงานใหญ่และสาขาต้องเสียค่าใช้จ่ายในสำนักงาน ค่าจ้างเสียนพนักงาน และค่าเช่าสถานที่ ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต่างมุ่งหมายจะขอกู้เงินตามสิทธิกันทุกคน ลำพังเงินค่าสมัคร ค่าบำรุง และค่าบริการคนละ 200 บาทที่เรียกเก็บจากสมาชิกซึ่งต้องหักค่าตอบแทนและค่าพาหนะของตัวแทนผู้ชักนำให้เข้ามาเป็นสมาชิกออกแล้ว คงเหลือรายละเพียง 100 บาทเศษ ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ ส่วนเงินสมทบของสมาชิกคนละ 300 บาท อันเป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ในช่วงระยะ 6 เดือนย่อมไม่สามารถหมุนหามาให้กู้คนละ 2,500 บาท ถึง 5,000 บาทได้ทั่วทุกคนตามสิทธิของสมาชิก พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าแผนการที่จำเลยดำเนินการอยู่นี้ เป็นแผนการที่ดำเนินการโดยเจตนาทุจริตเพื่อหลอกลวงประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อ ซึ่งแท้จริงมิได้เป็นไปดังโฆษณาอวดอ้างเป็นเหตุให้บรรดาผู้เสียหายต่างสมัครเข้าเป็นสมาชิกและจ่ายเงินให้ไปรายละ 500 บาท การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามฟ้อง
นายทำนองจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทและเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการตามแผนการ ส่วนนางสุนทรีจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นและได้เป็นกรรมการในบริษัท แล้วได้เข้าร่วมแผนการดำเนินงานนี้ต่อมา
สำหรับนายวิสุทธิ์จำเลยซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวน และวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของจำเลยฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกับนายทำนองจำเลยกระทำผิดคดีนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า นายทำนองและนางสุนทรีจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 จำคุกนายทำนองจำเลย 3 ปี นางสุนทรีจำเลย 2 ปี แต่โทษจำคุกสำหรับนางสุนทรีจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์