แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทสุรา ท. จำเลยที่ 2 มีโรงงานซึ่งเป็นโรงงานหนึ่งใน 12 โรงงานของกลุ่มบริษัท ท.แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์จำนวน25 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทสุรา ท. มีและดำเนินกิจการอยู่ โดยกลุ่มบริษัทสุรา ท. มีสิทธิทำและขายส่งสุราได้ใน 12 เขตได้วางเงินมัดจำประกันการรับผิดต่อกรมสรรพากรเป็นเงินถึง5,088 ล้านบาท เฉพาะโรงงานจำเลยที่ 2 ต้องวางมัดจำ 461 ล้านบาทเศษนับว่าจำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียระบบแก๊สชีวภาพ ณ โรงงานกลุ่มบริษัทสุราทิพย์จำนวน 12 โรงงานในราคา 132 ล้านบาท โดยแบ่งการจ่ายเงินออกเป็น 7 งวด ตามผลงาน จำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 โจทก์ดำเนินการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งอุปกรณ์จนแล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญา ผ่านขั้นตอนการส่งมอบและรับเงินงวดที่ 6 ไปแล้ว ครั้นเมื่อโจทก์ส่งงานงวดที่ 7 ส่วนแรก ผลการทดลองที่โรงงานจังหวัดราชบุรีปรากฏว่าโรงงานบำบัดน้ำเสียระบบแก๊สชีวภาพสามารถผลิตแก๊สมีเทนออกมาจนสามารถจุดไฟติดมองเห็นได้ที่ปล่องเผาแก๊ส จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินงวดที่ 7 ส่วนแรกของโรงงานแห่งนี้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 1,100,000 บาท จากนั้นจำเลยที่ 1หน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาไม่ยอมให้โจทก์ทดลองเดินเครื่องโรงงานที่เหลืออีก 11 โรง ทั้งนี้เนื่องจากหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญา จนเวลาได้ล่วงเลยไปครบ 1 ปี นับแต่โรงงานบำบัดน้ำเสียแต่ละแห่งเสร็จ โจทก์จึงหลุดพ้นจากภาระการทดลองและถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ชำระเงินส่วนที่เหลือแก่โจทก์โจทก์ได้ยื่นใบส่งงานงวดที่ 7 ทั้ง 12 โรงงานแก่จำเลยที่ 1 เพื่อเรียกเก็บเงินรวมเป็นเงิน 25,300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถาม จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า30 วัน แต่ไม่ชำระหนี้ ทั้งยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ค้างชำระหนี้แก่กระทรวงการคลังและธนาคารต่าง ๆ มากกว่าสินทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เป็นอันมากจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองสันนิษฐานได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว และจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์คนเดียวไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอน ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การก่อสร้างโรงงานและการติดตั้งอุปกรณ์โจทก์ได้ทำเสร็จเรียบร้อยตลอดมาจนจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินงวดที่ 5ให้แก่โจทก์ ครั้นเมื่อจะมีการจ่ายเงินงวดที่ 6 ซึ่งจะจ่ายเมื่องวดติดตั้งเครื่องมือในสถานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตามเงื่อนไขแห่งสัญญาโจทก์ได้ปิดบังจำเลยที่ 1 ว่าได้มีการทดสอบทั้งทางแมคคานิคคอลเทสต์และไฮโดรสะแตติคเทสต์เรียบร้อยแล้ว แต่ความจริงแล้วโจทก์ทำการทดสอบทางแมคคานิคอลเทสต์เพียงอย่างเดียว หาได้ทำการทดสอบไฮโดรสะแตติคเทสต์ไม่ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา หนี้สินที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้นั้น เป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนเพราะยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ งานที่โจทก์จ้างทำรายนี้มีวงเงินถึง 132 ล้านบาท จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินแก่โจทก์ไปแล้ว106,700,000 บาท ยังขาดอีก 25,300,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ไม่ยอมจ่ายให้เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช่เพราะฐานะทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 ทรุดโทรมลง จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ซึ่งได้ทำการประมูลต่อกรมสรรพสามิต และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการทำและขายส่งสุราขาว-ผสมโรงงานสุรากรมสรรพสามิต 12 โรงงาน เป็นเวลา 15 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ปรากฏว่าขณะนี้จำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยลำพังด้วยความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าตามที่คาดหมายไว้เป็นลำดับ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีจำนวนเล็กน้อย หากโจทก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา จำเลยทั้งสองก็พร้อมที่จะชำระเงินให้แก่โจทก์ทันที ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 หน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาไม่ยอมให้โจทก์ทดลองเดินเครื่องที่โรงงานอื่นอีก 11 โรง จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2ก็ยังมีทรัพย์สินเป็นจำนวนสูงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าลูกหนี้มีเหตุที่ไม่ควรให้ล้มละลาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาทจำเลยที่ 2 มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จำเลยที่ 2 เป็นหนี้กรมสรรพสามิตถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529 เป็นเงิน 370 ล้านบาทเศษตามเอกสารหมาย จ.80 และเป็นหนี้ธนาคารต่าง ๆ รวม 1,629 ล้านบาทเศษตามเอกสารหมาย จ.81 จ.82 จ.83 และ จ.84 ก็ตาม แต่จากคำเบิกความของนายวิรัช ชาญด้วยวิทย์กรรมการบริษัทโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เข้ามาทำสัญญากับโจทก์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์และในการประสานงานการก่อสร้างโรงงานนั้น โจทก์ได้ติดต่อกับกรรมการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ทั้งสิ้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องมีความผูกพันในทางธุรกิจอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ เจือสมกับที่นายเกียรติเอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการบริหารจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าจำเลยที่ 1เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ สำหรับจำเลยที่ 2 แม้ปรากฏว่ามีหนี้สินอยู่มาก แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายเฉลิมชัยวสีนนท์ อธิบดีกรมสรรพสามิต พยานโจทก์ว่า กลุ่มบริษัทสุราทิพย์ได้ทำสัญญาทำและขายส่งสุราขาว-ผสม กับกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ได้วางเงินล่วงหน้าต่อกรมสรรพสามิตเป็นเงินถึง 5,088 ล้านบาท กลุ่มบริษัทสุราทิพย์มีผลประโยชน์จากการผลิตสุราขาว-ผสมซึ่งสามารถที่จะตีราคาเป็นมูลค่าได้นายเฉลิมชัยยังเบิกความด้วยว่า กรมสรรพสามิตเห็นว่าหนี้ที่กลุ่มบริษัทสุราทิพย์ค้างอยู่กับกรมสรรพสามิตซึ่งรวมถึงหนี้ของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นหนี้ที่กลุ่มบริษัทสุราทิพย์สามารถชำระหนี้ให้แก่กรมสรรพสามิตได้ค่อนข้างแน่นอน สอดคล้องกับที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมสรรพสามิตให้เป็นผู้ทำและขายส่งสุราขาว-ผสมมีระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี2528 ถึงปี 2542 กลุ่มบริษัทสุราทิพย์มีสิทธิทำและขายส่งสุราได้ใน12 เขต ได้วางเงินมัดจำประกันการรับผิดต่อกรมสรรพสามิตเป็นเงินถึง 5,088 ล้านบาท ในวันลงนามในสัญญา เฉพาะโรงงานของจำเลยที่ 2 ต้องวางเงินมัดจำ 461 ล้านบาทเศษแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2มีฐานะทางการเงินดีและอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีด้วยนอกจากนี้ยังได้ความจากเอกสารหมาย จ.30 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย 12 โรงงาน รวมเป็นเงินค่าจ้าง132 ล้านบาท และจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์ไป 6 งวดเป็นเงินถึง 106 ล้านบาทเศษแล้ว คงค้างชำระงวดสุดท้ายเป็นเงินเพียง25 ล้านบาทเศษเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะที่ไม่มีทางชำระหนี้ส่วนที่เหลือได้ ส่วนหนี้จำนวน 1,629 ล้านบาทเศษที่จำเลยที่ 2 มีอยู่ต่อธนาคารต่าง ๆ นั้น ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าธนาคารเจ้าหนี้ได้เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระแต่อย่างใดทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ก่อหนี้ดังกล่าวนี้ก็เพื่อนำเงินมาลงทุนในกิจการก่อสร้างโรงงานเพื่อทำและขายส่งสุราตามข้อผูกพันที่มีอยู่กับกรมสรรพสามิต ซึ่งในขณะที่โจทก์ฟ้องยังอยู่ในอายุสัญญาที่จำเลยที่ 2สามารถหาผลประโยชน์จากการทำและขายส่งสุราได้ต่อไปจนถึงปี2542 แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์จำนวน25 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทสุราทิพย์มีและดำเนินกิจการอยู่นับว่าจำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.