คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในการพิจารณาคดีก่อนถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และทำให้จำเลยเสียเปรียบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาพิพากษา ก็ไม่อาจแก้ไขกระบวนการพิจารณาที่เสียไปแล้วตั้งแต่ต้นให้กลับมาเป็นชอบด้วยกฎหมายได้ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน บธ-9067 สุราษฎร์ธานี หรือใช้ราคา 190,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูกมาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน บธ-9069 สุราษฎร์ธานี หรือใช้ราคา 190,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาคดีก่อนถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และทำให้จำเลยเสียเปรียบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาพิพากษาก็ตาม ก็ไม่อาจแก้ไขกระบวนการพิจารณาที่เสียไปแล้วตั้งแต่ต้นให้กลับมาเป็นชอบด้วยกฎหมายได้ ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยกฎหมาย 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 และให้สอบคำให้การจำเลยเสียใหม่ แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

(องอาจ โรจนสุพจน์ – เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ – สถิตย์ อรรถบลยุคล)

Share