คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้ที่โจทก์อ้างส่งมีลักษณะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนในภายหลังได้ แต่ต้องกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้มาอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 400,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 28 ของเดือน และจะชำระต้นเงินคืนโจทก์ในวันที่ 28 เมษายน 2542 จำเลยผิดนัดชำระดอกเบี้ยและต้นเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน 30 วัน เป็นเงิน 84,931 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 484,931 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 484,931 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีชื่อเดียวว่า บังอร ส่วนชื่อศิริอร เป็นชื่อร้านค้าของจำเลย จำเลยไม่เคยกู้เงินจำนวน 400,000 บาท จากโจทก์ โจทก์ร่วมมือกับนางสาวสมถวิล นายกฤชชัย ทำสัญญากู้ปลอม โดยนางสาวสมถวิลซึ่งเป็นภริยาโจทก์นำแบบฟอร์มสัญญากู้ที่ยังไม่มีการกรอกข้อความในช่องว่างมาให้จำเลยลงชื่อในช่องผู้กู้ จำเลยลงชื่อให้ไปด้วยความเกรงใจและกลัวถูกนางสาวสมถวิลเร่งรัดหนี้สินเพราะจำเลยเป็นลูกหนี้เงินกู้นางสาวสมถวิลจำนวน 1,000,000 บาท ต่อมาจำเลยถูกนางสาวสมถวิลฟ้องเรียกหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 1,000,000 บาท ดังกล่าว ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในระหว่างจำเลยถูกนางสาวสมถวิลฟ้อง โจทก์ นางสาวสมถวิล และนายกฤชชัยร่วมกันนำแบบฟอร์มสัญญากู้ที่จำเลยลงชื่อให้ไว้ดังกล่าวมากรอกข้อความในช่องว่าง โจทก์ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้ นางสาวสมถวิลและนายกฤชชัยลงชื่อในช่องพยานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย และนำไปปิดอากรแสตมป์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลย จำเลยมีหนังสือปฏิเสธไปว่าไม่ได้เป็นหนี้หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีที่นางสาวสมถวิลฟ้องจำเลย นางสามสมถวิลคืนเช็คที่เป็นหนี้จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมสัญญากู้ในคดีนี้ให้กับสามีจำเลยรับไว้ สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นมาไม่มีมูลหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (20 ตุลาคม 2542) ต้องไม่เกิน 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์เสียก่อนว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นเอกสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์หรือหากปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เพียงใดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นวา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ที่ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว…” ซึ่งเอกสารสัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มีลักษณะเป็นตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเอกสารสัญญากู้เงินตามที่โจทก์อ้างมิได้ปิดอากรแสตมป์ และตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งตรงกับต้นฉบับในเอกสารหมาย ล.11 มีการปิดอากรแสตมป์เพียง 80 บาท ไม่ครบถ้วนจำนวน 200 บาท ตามกฎหมาย สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ข้างต้น ประกอบกับจำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะมีการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวโดยพลการ โดยที่จำเลยไม่รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์จึงไม่อาจอาศัยหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกฎหมายได้
ส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยได้เองเพราะจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่น เพราะไม่มีผลทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาและยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 ขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงินนั้น เห็นว่า การร้องขอดังกล่าวโจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้เงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอดังกล่าวหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share