คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมจำเลยฟ้องเรียกมรดกผู้ตายจากโจทก์ จึงเป็นกรณีที่พิพาทกันเรื่องมรดกโดยตรงและมีประเด็นชัดแจ้งว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายได้อย่างไร แต่โจทก์ให้การสู้คดีเฉพาะเรื่องพินัยกรรมอย่างเดียว มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เลยว่าผู้ตายได้รับรองโจทก์เป็นบุตร ดังนี้เมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดว่าพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้ คดีถึงที่สุด ฉะนั้นโจทก์จะรื้อฟื้นกล่าวหาเรียกมรดกรายเดียวกันขึ้นมาอีกโดยกล่าวอ้างว่าผู้ตายได้รับรองโจทก์เป็นบุตรไว้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะมิใช่คนละประเด็นกับคดีก่อน ย่อมถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2498)

ย่อยาว

คดีเดิมจำเลยในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 60/2492 เรียกมรดกของนายชื่น โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยต่อสู้ว่าได้รับมรดกโดยพินัยกรรมอันสมบูรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคงมีประเด็นข้อเดียวว่าพินัยกรรมใช้ได้หรือไม่เท่านั้น จึงย้อนสำนวนกลับให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาว่าพินัยกรรมใช้ไม่ได้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับกองมรดกและให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตาม

เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีนั้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนจึงกลับฟ้องโจทก์ในคดีก่อนเป็นจำเลยในคดีนี้ว่าเด็กชายชมเด็กหญิงชิต โจทก์เป็นบุตรที่นายชื่นได้รับรองแล้วมีสิทธิได้รับมรดกของนายชื่น จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดก ขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดกนายชื่น ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง

จำเลยต่อสู้ว่า 1. นายชื่นไม่ได้รับรองโจทก์ว่าเป็นบุตร 2. คดีเป็นเรื่องฟ้องซ้ำ 3. คดีขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า 1. โจทก์เป็นบุตรนายชื่น นายชื่นได้รับรองแล้ว 2. คดีไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะคดีก่อนมีประเด็นวินิจฉัยแต่เฉพาะเรื่องพินัยกรรมอย่างเดียวเท่านั้น ประเด็นคดีนี้มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นคนละประเด็น 3. คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า 1. นายชื่นรับรองเด็กชายชม เด็กหญิงชิตเป็นบุตรแล้วหรือไม่ 2. คดีเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าคดีเดิมเมื่อจำเลยในคดีนี้ฟ้องเรียกมรดกนายชื่นจากโจทก์ โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เลยว่านายชื่นได้รับรอง เด็กชายชม เด็กหญิงชิต ว่าเป็นบุตร ความจริงก็น่าเห็นใจโจทก์อยู่เป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นด้วยความบกพร่องของโจทก์เองที่มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในครั้งกระนั้นเพราะกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องมรดกโดยตรงระหว่างโจทก์จำเลยและมีประเด็นโดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนายชื่นผู้ตายได้อย่างไรโจทก์ต่อสู้คดีเฉพาะเรื่องพินัยกรรมอย่างเดียว เมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดแล้วคดีก็ต้องถึงที่สุด ฉะนั้นโจทก์จะมารื้อฟื้นกล่าวหาเรียกมรดกรายเดียวกันนี้อีกไม่ได้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป

จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share