คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5712/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และ ส. ตกลงแบ่งมรดกเจ้ามรดกทั้งที่มีพินัยกรรมและไม่มีพินัยกรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1.3 ว่า โจทก์ยอมสละที่ดินตามฟ้องทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง เมื่อโจทก์และ ส. ลงลายมือชื่อไว้จึงต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ถือได้ว่าที่ดินตามฟ้องทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้แบ่งปันไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ไม่ว่าในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้จัดการมรดกที่จะใช้สิทธิขอแบ่งหรือมีอำนาจจัดการอีกต่อไป ดังนั้นหากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ประการใดก็เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินจะไปว่ากล่าวแก่จำเลยต่างหากหาเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดก ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกจากจำเลย
คดีนี้ เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยมีพินัยกรรมข้อหนึ่งระบุว่า ยกที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้าง (โกดัง) ให้แก่ นายวิสิทธิ์ นายธนะสิทธ์ และนางสาวปิยะบุตร โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นที่ดินแปลงใด แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโกดังดังกล่าว ปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๘๙๓ ตำบลสวนหลวง (ที่ ๘ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพียงแปลงเดียวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเจตนาของเจ้ามรดกที่ปรากฏในพินัยกรรมแล้ว เห็นว่าพินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดพินัยกรรมในข้อ ๑ ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินรวม ๑๖ โฉนด ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม ๙ ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตกได้แก่โจทก์ นายชเนศร์กับนายชยายุส ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ คนละ ๑ ส่วนเท่า ๆ กัน ข้อ ๔ ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินรวม ๒ โฉนด ตั้งอยู่ที่แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตกได้แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่า ในการยกที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมนั้นหากบริเวณที่จะยกให้มีหลายแปลง เจ้ามรดกก็จะยกให้แก่ผู้รับพินัยกรรมทั้งหมด มิใช่ยกให้เฉพาะบางแปลง อีกทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๙๓ นั้น เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวโดยเจ้ามรดกให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด เช่าบางส่วน ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกที่ดินออกไปอีก ๒ แปลงเป็นโฉนดเลยที่ ๒๘๙๓, ๑๘๔๘๕๒ และ ๑๘๔๘๕๓ จากเหตุผลข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า เจ้ามรดกเจตนายกที่ดินทั้ง ๓ แปลงให้แก่ทายาททั้งสาม ดังนั้น ที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวจึงตกแก่ทายาททั้งสามแล้วนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายค่าเช่าที่ดินและผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากที่ดินที่ให้เช่าเป็นดอกผลนิตินัย ย่อมตกได้แก่บุคคลทั้งสามด้วย มิใช่ทรัพย์มรดกที่โจทก์จะนำมาแบ่งปันแก่ทายาทอื่น ๆ ได้
ประกอบกับในคดีก่อนโจทก์และนายสุขุมได้ตกลงแบ่งมรดกของเจ้ามรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑.๓ ว่า โจทก์ยอมสละที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๙๓, ๖๘๙๐๓, ๑๘๔๘๕๒ และที่ ๑๘๔๘๕๓ ตำบลสวนหลวง (ที่ ๘ พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๙๓ แก่นายสุขุม กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๐ วรรคสอง เมื่อโจทก์และนายสุขุมลงลายมือชื่อไว้จึงต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเมื่อได้ความดังนี้ย่อมถือได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลง ดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่โจทก์ฟ้องได้แบ่งปันไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว พร้อมสิ่งปลูกสร้างอีก ดังนั้นโจทก์ไม่ว่าในฐานะส่วนตัวหรือผู้จัดการมรดกหาอาจที่จะใช้สิทธิขอแบ่งหรือมีอำนาจจัดการอีกต่อไป หากจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ประการใด ก็เป็นเรื่องของเจ้าของที่ดิน จะไปว่ากล่าวแก่จำเลยเองต่างหาก หากเกี่ยวข้องกับโจทก์ไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ อันโจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

Share